วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เก็บเกี่ยวหลักธรรม

เก็บเกี่ยวหลักธรรม
โสภณ เปียสนิท
........................................

            พระอาจารย์กล่าวแนะนำผู้มีผลการปฏิบัติธรรม เหมือนใจถูกดูด..ว่า ที่ใจถูกดูดนั้น แสดงว่าเมื่อเราทำทาน รักษาศีลเจริญภาวนาในระดับหนึ่งใจเริ่มละเอียดแล้ว เป็นอาการเริ่มแรกของปีติชนิดหนึ่ง ให้ปล่อยใจไปตามปกติ ไม่ต้องฝืนประสบการณ์ ตัวยืด ตัวขยาย ตัวหด หรือแม้แต่ตัวหายไป ก็ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ดีทั้งหมด ขอให้วางใจนิ่ง ๆ เฉย ๆ เหมือนที่เคยทำต่อไป แล้วจะดีขึ้นเอง

                มีเหตุการณ์ที่ทดสอบกำลังใจของผู้ปฏิบัติธรรมคือ โทรศัพท์มือถือของกัลยาณมิตรคนหนึ่งวางอยู่ในห้องพักอุบาสิกาหายไป ห้องพักนั้นคนนอกเข้าไปไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นการกระทำของคนภายในคนใดคนหนึ่งแน่ อารมณ์ของผู้อยู่ในห้องประชุมจึงแปลกไปกว่าวันอื่น ๆ ที่อยู่บนยอดดอย พระอาจารย์กล่าวสั่งสอนในที่ประชุมว่า การลักของผู้อื่นเป็นบาป การลักของผู้มีศีลเป็นบาปมากกว่า การลักของผู้อยู่ระหว่างการปฏิบัติธรรมเป็นบาปสูงสุด ขอให้นำไปคืนเถอะ เรามาสถานที่แห่งนี้ เพราะต้องการมาทำความดีกัน

                วันต่อมามีข่าวดี โทรศัพท์มือถือได้กลับมาอยู่ที่เดิมได้อย่างน่าอัศจรรย์ สันนิษฐานว่า ผู้หยิบไปสำนึกได้ว่ามิใช่โทรศัพท์มือถือของตนเอง จิตใจฝ่ายดีงามจึงแนะนำให้นำมาคืนไว้ที่เดิม

                กัลยาณมิตรคนหนึ่งถามพระอาจารย์กลางที่ประชุมว่าเคยปฏิบัติธรรมแบบภาวนา พุท-โธ หายใจเข้าภาวนาว่า พุท หายใจออกภาวนาว่า โธ เรียกว่า อานาปานัสสติผสมพุทธานุสติ มานานแล้ว ครั้งนี้มาปฏิบัติแบบวิชชาธรรมกาย โดยกำหนดดวงแก้วกลมใสไว้ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ 7 ภาวนาว่า สัมมาอรหัง ต่างกันอย่างไร

                พระอาจารย์แนะนำว่า การปฏิบัติธรรมตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้มีมากถึง 40 วิธี การเลือกว่าจะปฏิบัติแบบไหนดีนั้นขอให้เลือกที่เหมาะสมกับจริต หรือความชอบของตนเป็นข้อแรก ทุกวิธีให้ผลเหมือนกัน และทุกวิธีต่างช่วยหนุนส่งซึ่งกันและกัน ไม่ขัดกัน แต่ระยะแรกหากเลือกวิธีใดแล้วก็น่าจะยึดเป็นหลัก และปฏิบัติอย่างต่อเนื่องให้ได้ผลดีก่อน หากยังต้องการฝึกวิธีอื่น ก็ฝึกได้ นิ้วทั้งห้านิ้วต่างรวมความรู้สึกส่งไปที่ข้อมือเหมือนกัน แต่ที่ต้องระวังคือ อย่าคิดว่าวิธีที่เราฝึกนี่ดีกว่าวิธีอื่น เพราะเป็นมิจฉาทิฐิ เห็นผิด

                ผลการปฏิบัติธรรมในภาคบ่ายสำหรับผู้บันทึกเอง แม้ว่าจะภาวนาว่า สัมมา อรหัง ต่อเนื่องกันดี แต่ใจที่คุ้นชินกับความฟุ้งซ่าน ยังไม่ยอมหยุดนิ่งสงบง่าย ๆ ดิ้นรนกวัดแกว่ง เหมือนปลาเป็นที่ถูกโยนไว้บนบก ความปวดเมื่อยทวีความรุ่นแรงจนสังเกตเห็นความผิดสังเกต ชั่วโมงกว่า ๆ แห่งการปฏิบัติธรรมในรอบนี้จึงขยับปรับเปลี่ยนท่าถึงสามครั้ง

                พระอาจารย์นำคำเทศนาของหลวงพ่อธัมมชโยบอกแก่ทุกคนว่า ถ้าชีวิตมีสิ่งใดไม่ลงตัวแล้วละก็ให้หลับตาลง ซึ่งหมายถึงการนั่งสมาธิเข้าสู่ศูนย์กลางกาย ตามหลักการ สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดจะเกิดปัญหา ดังที่มีพุทธภาษิตว่า ปัญญาย่อมไม่เกิดแก่ผู้มีใจไม่สงบ (นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน) ปัญหาสำคัญคือปัจจุบันนี้ เด็กไม่ได้รับการพร่ำสอนให้ฝึกสติสมาธิอย่างเป็นระบบ ทั้งที่ผู้ใหญ่รู้ว่ามีประโยชน์มาก

                หลังการนั่งปฏิบัติธรรมนึกทบทวนว่า เพราะเหตุใดจึงมีความเจ็บปวดเมื่อยทางกาย และ ความฟุ้งซ่านเหมือนมากกว่าวันก่อน ๆ เกิดคำตอบในใจว่า เพราะร่างกายถูกบังคับให้นั่งปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องถึงวันที่ 4 สำรวจจิตใจตนเองพบว่า ระหว่างการนั่งสมาธินั้นเน้นการภาวนาว่า สัมมา อรหัง มากกว่า การกำหนดนิมิต ดวงแก้ว จึงไม่สมดุล พอกำหนดดวงแก้วก็มักจะเน้นหนักเกินไป

          จึงแก้ไขด้วยการพยายามนึกถึงดวงแก้วขณะลืมตา ในอิริยาบถต่าง ๆ เริ่มจากอิริยาบถนั่งลืมตากำหนดดวงแก้วที่ศูนย์กลางกาย พอนึกได้ แต่ดำรงอยู่ได้ไม่นานนักก็หายไป เริ่มกำหนดใหม่ แล้วก็หาย สลับกันไปมาอยู่อย่างนี้ มีข้อดีคือ การลืมตากำหนดเช่นนี้ ทำให้ไม่เพ่งภาพจนเกินไป ข้อเสียคือ เห็นภาพภายนอกจูงจิตให้คล้อยตามขาดการกำหนดได้ง่าย คราวนี้พยายามกำหนดระหว่างอิริยาบถอื่น เช่น กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ได้นิดๆ หน่อยๆ แม้จะไม่ยังดีนัก แต่รู้สึกว่าเบาๆ สบายๆ ได้ผลมาก
                ย่างเข้าสู่วันพฤหัสบดีที่ห้า เปิดปูมบันทึกพบว่า ตื่นก่อนตีสี่ครึ่งเล็กน้อย มีเวลาเตรียมพร้อม และเข้าห้องค้นวิชาก่อนเวลา สวดพระคาถาชินบัญชร10 จบ ก่อนการนั่งสมาธิรอบเช้า อารมณ์เหมือนว่าจะหนักโดยไม่ทันสังเกต มันเป็นไปเองแบบที่เราตามความรู้สึกไม่ทัน ความปวดเมื่อยค่อย ๆ เกาะกินมากกว่าเดิมจนสังเกตได้ชัด

                6.45 น. บนลานกีฬา หลังการออกกำลังกันตามปกติแล้ว มีการจัดงานวันเกิดแก่ผู้ที่เกิดเดือนเมษายน นับจำนวนกันแล้วมีมากถึง 42 คนมีการร่วมทำบุญถวายมหาสังฆทาน กัลยาณมิตรทุกคนร้องเพลงอำนวยพร มอบดอกไม้ และภาพพระพุทธองค์คนละ 1 ภาพ

                เมื่อตักอาหารมาวางไว้บนโต๊ะ เห็นหลายคนนั่งสำรวมจิตน้อมนำอาหารที่เห็นอยู่ตรงหน้าบูชาแด่พระพุทธองค์ แม้ไม่มีใครบอกก็รู้ว่า การบูชาข้าวพระเช่นนี้ได้บุญเพิ่ม เพราะนึกถึงพระแม้ขณะที่กำลังจะรับประทานอาหาร จึงถือโอกาสทำตามเพื่อรับบุญตามเขาบ้าง

                วันที่ผ่านมามีผู้เล่าผลการปฏิบัติธรรมที่ดีหลายคน ส่วนมากเป็นผู้ที่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาจากบ้านอยู่ก่อนแล้วทั้งนั้น มีกัลยาณมิตรคนหนึ่งนั่งสมาธิอยู่ที่บ้านถึงวันละ 3 ชั่วโมง ส่วนเราเอง แม้จะนั่งสมาธิทุกวัน แต่ก็วันละเล็กวันละน้อย ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน จึงทำให้ผลการปฏิบัติไม่ก้าวหน้ามากนัก

                ทางที่จะทำให้มีผลการปฏิบัติที่ดี ต้องกำหนดดวงแก้วที่ศูนย์กลางกายให้ได้ในอิริยาบถอื่น ๆ ให้มากยิ่งขึ้น ตามหลักอิทธิบาท4 คือ 1. มีความพึงพอใจที่จะกำหนดภาพดวงแก้ว 2. มีความเพียรนึกถึงภาพดวงแก้วบ่อยๆ ไม่ละเลิก 3. จิตจ่ออยู่กับภาพดวงแก้วเสมอ 4. ใคร่ครวญหาจุดอ่อน และหาทางแก้ไขไปเรื่อยไม่ยอมหยุด อย่างนี้ถือว่าต้องมีผลดีแน่

                รอบเช้าพระอาจารย์สอนโดยนำคำของคุณยายมาบอกว่า เมื่อเกิดสิ่งใดขึ้น อย่าคิดนำหน้าไปก่อน ต้องค่อย ๆ พิจารณาให้ดีแล้วค่อยหาทางแก้ไขตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ท่านสอนให้กำหนดรู้โลกธรรม 8 ประการด้วยใจเย็น  มีลาภ เลื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสุข มีทุกข์ มีนินทา มีสรรเสริญ ระวังมิให้จิตใจฟูฟ่องดีใจเมื่อได้รับสิ่งที่พึงพอใจ ระวังมิให้จิตใจฝ่อแฟบเมื่อได้รับสิ่งที่ไม่ชอบใจ

                ท่านเล่านิทานเรื่อง ลูกนกอินทรี ให้ฟังว่า เด็กคนหนึ่งเดินทางเข้าป่าลึก ปีนไปบนยอดเขา ได้ยินเสียงนกร้องบนยอดไม้ แหงนมองเห็นมีรังนกจึงปีนขึ้นไปดู มีไข่นกหลายใบ จึงหยิบใส่เป้หนึ่งใบ เมื่อกลับมาบ้านจึงเอาไปใส่ไว้ในรังไก่ให้แม่ไกฝักไข่ใบนั้น ไม่นานนักกะเทาะเปือกไข่ออกมาพร้อมกับลูกไก่อีกหลายตัว แม่ไก่สอนลูกๆ ให้รู้จัก คุ้ยเขี่ยจิกกินร้องแบบไก่ เมื่อเติบใหญ่ก็สอนฝึกบิน แม่ไก่และลูกไก่บินได้นิดหน่อย แต่ลูกนกอินทรีกลับชอบการบิน บินได้นานกว่าตัวอื่น เมื่อเห็นนกอินทรีบินผ่านมา จึงได้รู้ว่า ตนเองเป็นนกอินทรี

                สรุปสาระของเรื่องนี้คือ พวกเราที่มานั่งกันอยู่ในโรงค้นวิชชาแห่งนี้ มาจากหลายที่หลายแห่งอาจเป็นคล้ายลูกอินทรี คือลูกหลานของหลวงปู่ ที่ต้องไปอยู่กับแม่ไก่อื่น ๆ เมื่อกลับมาพบหมู่คณะต้องเร่งทำหน้าที่ลูกหลานหลวงปู่คือ ทำความดี ทั้ง ทานศีลและภาวนา พร้อมทั้งทำหน้าที่กัลยาณมิตรชักชวนผู้อื่นให้มาทำบุญร่วมกันให้มากขึ้น

                พระอาจารย์สรุปให้ฟังว่า การทำสมาธิให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องวางอารมณ์นิ่งๆ เฉยๆ ไม่ว่าจะมืดจะสว่างจะเห็นหรือไม่เห็นให้ยึดไว้ประการเดียวคือ นิ่งๆ เฉยๆ เข้าไว้ นี่คือหลักแห่งความสำเร็จ และต้องไม่ละความเพียรคิดไว้เสมอว่า แม้มืดตื้อมืดมิดก็มีสิทธิ์เข้าถึงธรรม
                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น