วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วันที่สี่แห่งการปฏิบัติ
โสภณ เปียสนิท
........................................

หลังการชมรายการ โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ของคุณครูไม่ใหญ่จบแล้ว ราวสี่ทุ่มกว่า พระอาจารย์นำผู้มีบุญนั่งสมาธิกราบพระ ลาพระอาจารย์เดินทางกลับห้องนอนเพื่อพักผ่อน ได้ยินคำเชิญชวนสำหรับผู้ที่ประสงค์จะปฏิบัติธรรมตลอดทั้งคืน แต่เราบารมียังอ่อน (ความขี้เกียจยังแก่) ขอนอนก่อนก็แล้วกัน

คณะของเราเดินฝ่าลมหนาวกลับที่พัก ลมหนาวโชยผ่านเสื้อคลุมต้องผิวเหนือเย็นฉ่ำ หลายคนสูดลมหายใจเข้าปอดอย่างแรงหลายครั้งตรงลานกว้าง สำหรับออกกำลังกายเมื่อยามเช้า สดชื่นจนลืมความง่วงไปได้ชั่วคราว แว่วเสียงพูดคุยแผ่วเบาจากกลุ่มต่างๆ

ผมแยกตัวเดินกลับห้อง หลายคนเข้านอนแล้ว หลายคนกำลังจะนอน หลายคนกำลังสวดมนต์อยู่บนที่นอน หลายคนนั่งสมาธิ ผมเองตัดใจเรื่องการนั่งสมาธิตลอดคืน เพราะไม่อาจข่มใจต่อสู้กับเสียงกรนและเสียงละเมอของเพื่อนร่วมห้องได้ ซึ่งเป็นข้อแก้ตัวให้กับความเกียจคร้านที่ผอกพูนอยู่ในใจ

เช้าวันที่สี่แห่งการปฏิบัติ ในรอบเช้ามืด ผมเองยังคง มืดตื้อมืดมิดเหมือนเดิม รอบเช้าระหว่างการกำหนดภาพดวงแก้วกลมใส ที่ศูนย์กลางกาย พร้อมภาวนาคำว่า สัมมา อรหัง ไปเรื่อย ด้วยความเผลอขาดสติทำให้หลับไปเสียหนึ่งครั้ง ความปวดเมื่อยเหมือนว่าจะมีมากขึ้นตามจำนวนวัน

หกโมงครึ่งเป็นเวลาแห่งการทำกิจกรรมบนลานกีฬา เปิดเพลงธรรมะ เต้นตามจังหวะ เหวี่ยงแขน เต๊ะขา นวดกันเอง วันนี้เพิ่มกิจกรรมเป่าฟองอากาศ เพื่อช่วยให้ผู้ที่จิตนิ่งใกล้เป็นสมาธิเห็นดวงแก้วดวงธรรมได้ง่ายขึ้น เพราะฟองอากาศมีลักษณะเหมือนแก้วกลมใส

เสร็จจากกิจกรรมออกกำลังกายเราเดินเข้าสู่โรงอาหาร ขณะนั่งรับประทานอาหาร ด้วยการกำหนดจิตถึงดวงแก้วกลมใส พร้อมภาวนา สัมมา อรหัง ไปเรื่อย ๆ ผู้ที่นั่งรับประทานอยู่ข้างหน้า ยิ้มให้แล้วถามว่า เคยไปเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนร่มเกล้าฯ เมืองกาญจน์ใช่หรือไม่? ผมตอบว่าใช่ พร้อมความจำแต่หนหลังบอกผมว่า คนที่นั่งตรงหน้าคือ ครูอรุณี เมื่อครั้งที่ผมสอบบรรจุครูได้ที่โรงเรียนร่มเกล้าฯ เมื่อสิบกว่าปีก่อน หลังคุยกันจึงรู้ว่าตอนนี้ย้ายกลับไปประจำที่โรงเรียนกาญจนาภิเษก จังหวัดสุพรรณบุรีนานหลายปีแล้ว
แปดโมงครึ่ง กลับเข้าสู่โรงค้นวิชชากันอีกครั้ง พี้เลี้ยงเล่าเรื่อง คุณค่าของบุญ ให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า สมัยพุทธกาล มีชายหนุ่มคนหนึ่งไปปฏิบัติธรรมที่วัดเชตะวันเสมอ ครั้งหนึ่งต้องเดินทางไกลทางทะเล พร้อมกับช่างกัลบก (ช่างตัดผม) วันเดินทางภรรยาช่างสั่งเสียว่า ขอฝากให้ช่วยดูแลสามีด้วย เขารับปากว่าจะช่วยดูแลให้ ระหว่างการเดินทางกลางทะเลเกิดคลื่นลมแรงจนเรือแตก ต่างคนต่างว่ายน้ำเอาชีวิตรอด ชายหนุ่มและช่างกัลบกช่วยเหลือกันและกันเกาะขอนไม้ลอยไปจนถึงเกาะแห่งหนึ่ง เมื่อขึ้นไปอยู่บนเกาะต่างหาอาหารเพราะความหิวโหย นายช่างฆ่านกหลายตัวมาปิ้งกิน แบ่งให้ชายหนุ่มนักปฏิบัติธรรม เขาปฏิเสธเพราะถือศีลห้าอย่างเคร่งครัด

                หลายวันผ่านไปชายหนุ่มนักปฏิบัติธรรมไม่ได้รับประทานอาหารหิวโซใกล้ตาย ร้อนถึงเทวดามีเมตตาจิตเนรมิตเรือมารับผู้มีบุญ ผู้มีบุญหลายคนที่ไม่ทำลายศีลขึ้นเรือได้ แต่นายช่างกลับขึ้นเรือไม่ได้ เพราะไม่มีบุญพอ ชายหนุ่มนั้นนึกถึงคำสัญญาที่รับปากว่าจะดูแลนายช่าง จึงตั้งจิตอธิษฐานว่าบุญใดได้ทำมาขอแบ่งบุญนั้นให้แก่นายช่าง นายช่างอนุโมทนาบุญแล้วจึงขึ้นเรือและเดินทางกลับบ้านได้

                เมื่อกลับมาถึงบ้าน นายช่างกลับตัวเป็นสัมมาทิฏฐิเห็นความสำคัญของบุญรู้ค่าของบุญ จึงเร่งทำบุญด้วยการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอย่างสม่ำเสมอจนสิ้นอายุขัย

                พระอาจารย์เทศน์ถึงการทำสุขภาพให้แข็งแรงด้วยหลัก 5 อ. คือ 1. อากาศ คนเราสุขภาพจะแข็งแรงต้องอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศดี 2. อาหาร ต้องรับประทานอาหารดีไม่มีโทษ อาหารอายุสั้น เช่นผักสดผลไม้ธัญพืช ทำให้อายุยืน อาหารอายุยาว เช่นอาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง อาหารถุง ทำให้อายุสั้น 3. อารมณ์ดี คือการฝึกสมาธิวิปัสสนารักษาจิตเสมอทุกวันมิได้ขาด 4. ออกกำลังกายวันละ 30 นาทีอย่างน้อยอาทิตย์ละสามวัน และ 5. อุจจาระ คือการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายโดยสม่ำเสมอ

                หากคนใดต้องการดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขร่างกายแข็งแรงต้องปฏิบัติตามหลัก 5 อ. นี้ให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำสมาธิวิปัสสนา เช่น การกำหนดดวงแก้วกลมใสที่ศูนย์กลางกาย (Centre of gravity) ไว้เสมอจนเกิดความเคยชิน จะเพิ่มความจำ ป้องกันโรคความจำเสื่อม ลดโรคอื่นอีกหลายชนิด และเป็นเครื่องยืนยันว่า เป็นชาวพุทธที่มีที่พึ่งอันประเสริฐ ไม่คลอนแคลน

                พระอาจารย์เล่าเรื่อง อานิสงส์แห่งเมตตา ว่า ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงตรัสปรารภเมตตาสูตรว่า "ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของการแผ่เมตตามี ๑๑ ประการ คือ ๑. หลับเป็นสุข  ๒. ตื่นเป็นสุข  ๓. ไม่ฝันร้าย  ๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย  ๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย  ๖. เทวดาย่อมรักษา ๗. ไฟ ยาพิษ ศัสตรา ไม่ล่วงเกิน ๘. จิตได้สมาธิเร็ว ๙. สีหน้าผ่องใส ๑๐. ไม่หลงตาย  ๑๑. เมื่อยังไม่บรรลุ ธรรม ย่อมเข้าถึงพรหมโลกชั้นสูง

                เมตตาเป็นคุณธรรมสำหรับฆ่าความโกรธ คนมักโกรธจึงควรศึกษาเรื่องเมตตานี้ให้ดี เพราะความโกรธให้ผลตรงข้ามกับเมตตาทุกประการ รู้อานิสงส์ของเมตตาแล้วช่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ วิธีการก็ไม่ยากนะครับ ทำจิตให้นิ่ง ๆ กำหนดดวงแก้วกลมใสให้ชัด แล้วแผ่ส่วนบุญไปอย่างไม่มีประมาณว่า บุญใดที่ข้าพเจ้าได้ทำมา ขอบุญนั้นจงถึงแก่ ...อยากให้ใคร นึกถึงใครได้ คนสัตว์ เจ้ากรรมนายเวร อะไรต่ออะไรก็ว่าไปจนหมด ขอให้เขาพ้นจากทุกข์ มีความสุข ไม่เว้นแม้แต่ศัตรูคู่อาฆาต ให้แล้วเราได้ คือเราสบายใจ ฝึกนานเข้า ความนิ่งมากเข้า อานิสงส์ก็มากตามไปด้วยเช่นกัน

                พระอาจารย์เล่าเรื่อง การทำสมาธิแล้วมีความสุข โดยยกตัวอย่างของพระราชาพระองค์หนึ่งนามว่ากัปปินะ ระหว่างการครองราชย์ ทรงมอบหมายให้คนไปสืบข่าวเสมอว่า โลกนี้มีพระอรหันต์เกิดขึ้นแล้วหรือยัง ครั้งหนึ่งมีพ่อค้าเดินทางมาค้าขายในเมือง และแจ้งข่าวว่า ขณะนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์ทรงมอบทรัพย์ให้พ่อค้าที่แจ้งข่าวจำนวนมาก และบอกลาข้าราชบริพารว่าจะออกบวช ขอลาออกจากความเป็นพระราชาเพื่อไปบวช

                เมื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เจริญสมาธิภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ไม่ว่าจะเดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ มักอุทานว่า สุขจริงหนอ ๆๆ จนมีพระอื่นได้ยินเข้า และนำเรื่องนี้กราบเรียนแด่พระพุทธองค์ จึงมีการสอบถามกันขึ้นว่า ที่ว่าสุขนั้นสุขอะไร ท่านจึงตอบว่า การทำสมาธิวิปัสสนาทำให้เกิดความสุขจนไม่อาจเก็บไว้ในใจคนเดียวได้จึงต้องอุทานออกมา

                ความสุขที่เกิดจากใจหยุดใจนิ่ง เป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขอย่างอื่น ทำทานได้บุญระดับต้น รักษาศีลได้บุญระดับกลาง เจริญภาวนาได้บุญระดับสูง คำโบราณกล่าวไว้ว่า การทำใจหยุดนิ่งแค่ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้นได้บุญมากกว่าสร้างโบสถ์สร้างศาลา

                สำหรับผลการทำสมาธิ รอบเช้าวันที่สี่ค่อนข้างดี นั่งภาวนาไปเรื่อยๆ ไม่ทราบว่าเผลอนิ่งไปแต่เมื่อใด สติกลับคืนมาอีกครั้ง พบว่าจิตจับคำภาวนาอย่างต่อเนื่อง นึกภาพดวงแก้วกลมใสได้ต่อเนื่องดี ความสุขเกิดขึ้นจากความนิ่งทีละน้อย ๆ เกิดความพึงพอใจการนั่งสมาธิเพิ่มขึ้น กำหนดเห็นภาพขาวใสคล้ายสำลีที่ศูนย์กลางกาย ใสไม่เสมอกัน ตรงกลางใสมากกว่าริมๆ คำภาวนาเปลี่ยนเป็น ชัดสว่างใสๆๆ ไปตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น