วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ใจหยุดนิ่งได้บุญมากเพราะเหตุใด

ใจหยุดนิ่งได้บุญมากเพราะเหตุใด
โสภณ เปียสนิท
........................................

                ระหว่างการนั่งนิ่งหลับตาเบา ๆ วางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายเรื่อยๆ ฟังพระอาจารย์สอนถึงคำว่า การทำใจหยุดนิ่งแม้เท่าช้างกระพือหู งูแลบลิ้นได้บุญมากกว่าสร้างโบสถ์สร้างศาลา เกิดคำถามผุดขึ้นในใจว่า เหตุใดการนั่งสมาธิทำใจหยุดนิ่ง ซึ่งเป็นงานที่ทำได้ง่าย กลับได้บุญมากกว่า งานสร้างโบสถ์สร้างศาลาซึ่งเป็นงานค่อนข้างยากกว่า

                ใคร่ครวญแล้วเกิดความรู้ขึ้นว่า โดยหลักการในพระศาสนามีอยู่ว่า การทำบุญนั้นทำได้ 3 อย่าง คือ 1. ทำทานคือการให้ 2. รักษาศีล คือการสำรวมกายวาจา 3. การเจริญภาวนา คือการสวดมนต์และนั่งสมาธิวิปัสสนา มีคำอธิบายต่อไปว่า ทานนั้นคือบันไดขั้นแรกเพื่อก้าวสู่บันไดขั้นสองคือ การรักษาศีล สำรวมกายวาจาดีแล้ว จึงก้าวสู่บันไดขั้นที่สาม คือการสวมมนต์เจริญภาวนา

เรียกอีกอย่างว่า ทานคือบุญขั้นต้น ศีลคือบุญขั้นกลาง ส่วนภาวนาคือบุญขั้นสูง ผู้มีบุญขั้นต้นยินดีกับการทำทาน ผู้มีบุญขั้นกลางชอบการรักษาศีล ผู้มีบุญขั้นสูงชอบการสวดมนต์ภาวนา ผู้ไม่ชอบทำบุญทั้งสามขั้นคือผู้ที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อสร้างบารมี ยังยินดีกับการเวียนว่ายตายเกิด การทำบุญทั้งสามขั้นนั้นทำไปพร้อมกันได้เพียงแต่ว่ามีความยินดีด้านใดเป็นพิเศษ

การก่อสร้างวิหารทานแม้จะเป็นทานอันเลิศ แต่ยังเป็นบารมีเบื้องต้น มีอานิสงส์ให้มีความสุขในภพนี้และภพหน้าต่อๆ ไป ตราบเท่าที่บุญยังให้ผลอยู่ ส่วนการทำจิตหยุดนิ่งนั้นมีอานิสงส์ด้านปัญญาทำให้การเดินทางเวียนว่ายตายเกิดใกล้สิ้นสุดลง การเวียนว่ายตายเกิดคือความทุกข์ การสิ้นทุกข์คือเป้าหมาย ดังนั้นการทำใจหยุดนิ่งจึงได้บุญสูงสุด

เปรียบชีวิตเหมือนการเดินทางไกล การทำทานก็ตาม การรักษาศีลก็ตาม เป็นเหมือนการเตรียมเสบียง แม้จะเตรียมเสบียงมากหรือน้อย แต่ก็ยังไม่ได้ออกเดินทาง ส่วนการสวดมนต์เจริญภาวนาเหมือนการออกเดินทาง ทุกครั้งที่ใจหยุดนิ่งจึงเหมือนเดินใกล้เป้าหมายเข้าไปทุกครั้งเช่นกัน เหตุนี้จึงมีอานิสงส์มากดังกล่าวมา

พี่เลี้ยงในชุดอุบาสกอุบาสิกากล่าวระหว่างการนำเข้าสู่การฟังธรรมภาคบ่ายว่า คนเราเกิดมาแตกต่างกันเพราะทำบุญทำกรรมต่างกัน ตรงกับพุทธภาษิตว่า กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ ทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด ทุกอย่างที่คิดถูกบันทึกไว้ด้วยใจของเรา หากถามว่าใจของเราอยู่ที่ไหน ใจอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ที่ฝรั่งเรียกว่า Centre of Gravity กลางกายเหนือสะดือสองนิ้ว

ใจ คือที่รวมของความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ดำรงอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่นของทุกคน หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ จึงสอนให้กำหนดดวงแก้วไว้ที่ศูนย์กลางกายเสมอ และที่ศูนย์นี่เป็นที่บันทึก กรรมคือการกระทำ ของเราไว้โดยไม่ตกหล่น ไปเกิดมาเกิดด้วยอำนาจแห่งวิบากกรรมที่สร้างไว้เอง และสะสมอยู่ที่ศูนย์นี้

กิจกรรมภาคบ่ายในวันที่ 4 คือการเปิดวีซีดี 90 ปีผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย เป็นประวัติของคุณยายอาจารย์ อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์เอกหลวงปู่วัดปากน้ำ ที่สละชีวิตปฏิบัติตามคำสั่งเสียของหลวงปู่ก่อนมรณภาพว่า สิ่งใดที่หลวงปู่ได้ปฏิบัติมาได้สั่งสอนมา ให้ทุกคนช่วยกันปฏิบัติต่อไป คุณยายทุ่มเทชีวิตสอนวิชาธรรมกายอย่างต่อเนื่องยาวนานจนมีศิษยานุศิษย์เพิ่มมากขึ้นตามลำดับจน บ้านธรรมประสิทธิ์ หรือ บ้านกัลยาณมิตรหมายเลขหนึ่ง คับแคบลงไปทุกวัน

คุณยายในขณะนั้นวัย 60 เศษดำเนินการตามคำสั่งหลวงปู่ด้วยการรวบรวมศิษย์เพื่อหาที่ดินอันสะดวกต่อการเผยแพร่วิชาธรรมกายผืนใหม่ ทั้งส่งศิษย์ไปติดต่อขอซื้อที่ดิน ทั้งช่วยกันอธิษฐานตามหลักวิชา ตอนนั้นใครจะคิดว่า คุณยายผู้มีพื้นฐานความรู้ทางโลกน้อย มีเงินในย่าม 3200 บาท อีกทั้งวัยเกินเกษียณแล้วจะเริ่มต้นให้กำเนิดวัดพระธรรมกายได้

ครั้งนั้นมีศิษย์หนุ่มคนหนึ่งทุ่มเทมุ่งมั่นฝึกวิชาธรรมกายนับแต่สมัยเป็นนักเรียนสวนกุหลาบ ต่อมาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาแล้วจึงบวชอุทิศชีวิตแด่พระศาสนา สืบทอดเจตนารมณ์การสั่งสอนวิชาธรรมกายต่อจากคุณยายอีกที ศิษย์หนุ่มคนนี้นามว่า ไชยบูลย์ สุทธิผล ต่อมากลายเป็นพระเดชพระคุณ หลวงพ่อธัมมชโยในปัจจุบัน
สมัยนั้นมีนิสิตรุ่นพี่ที่เกษตรศาสตร์ชื่อ เผด็จ ผ่องสวัสดิ์ อีกคนที่ตามหลวงพ่อธัมมชโยมาหาคุณยายที่บ้านธรรมประสิทธ์ภายในวัดปากน้ำ คุณยายทุ่มเทสั่งสอนจนศิษย์คนใหม่นี้กลายมาเป็นหลวงพ่อทัตตะชีโวในทุกวันนี้ คุณยายทำอย่างไรจนชนะใจศิษย์ที่มีความรู้ (ทางโลก) มากๆ อย่างนั้นได้ นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์

ถึงวันนี้ วัดพระธรรมกายเติบโตขึ้นทุกด้าน มีพระเณรในสังกัดทั้งหมดเกินกว่า 3000 รูป/องค์ มีสถานที่สำหรับเผยแพร่ที่เป็นศูนย์กลางกว่า 2500 ไร่ มีการสอนทั้งปริยัติ และปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง มีการเผยแพร่เชิงรุกทั้งในและนอกประเทศ มีการจัดองค์กรอย่างเป็นระบบ มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเผยแพร่อย่างทันสมัย

ศิษย์ทุกคนต่างยกให้คุณยายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของวัดพระธรรมกาย เป็นต้นแบบของวัด ไม่ว่าจะเป็นความเป็นระเบียบเรียบร้อย การทุ่มเทสั่งสอนเผยแพร่หลักธรรม นับแต่การทำทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา เป็นหลักปฏิบัติตนของบุคลากรภายใน และผู้มาใช้ประโยชน์

คุณยายออกจากบ้านเพื่อตามหาพ่อที่ถึงแก่กรรมไปก่อนที่ท่านจะได้ขอขมาโทษ ตอนออกจากบ้านมีเงินเพียง 2 บาท ยอมไปเป็นลูกจ้างเพื่อหาทางเข้าวัดฝึกวิชาธรรมกายที่วัดปากน้ำ เข้าวัดเมื่ออายุ 29 ปี เริ่มต้นปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง สั่งสอนไม่ขาด จนกระทั่งมรณภาพลงเมื่ออายุ 92 ปี

หลังจบการชมประวัติคุณยายผู้ก่อตั้งวัดพระธรรมกาย มีการเชิญผู้มีประสบการณ์จากการปฏิบัติมาเล่าให้ฟัง กัลยาณมิตรบุญช่วย เล่าว่า ตอนเริ่มนั่งคิดว่า เหมือนนั่งอยู่คนเดียวในโลก แรกๆ ก็มืด นั่งปล่อยใจนิ่งๆ ว่างๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ ในที่สุดก็เห็นแสงสว่าง เห็นดวงแก้วกลมใส ใจเป็นสุขอย่างบอกไม่ถูก

กัลยาณมิตรรุ่งทิพย์ เล่าว่า เมื่ออยู่บ้านก็นั่งสมาธิเป็นประจำอยู่แล้ว อย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง เคยฝันเห็นสวนพนาวัฒน์ตั้งแต่ยังไม่มา ตอนแรกจะไม่มา แต่เหมือนมีเสียงมาเตือนว่า มาได้แล้วมัวทำอะไรอยู่ มานั่งครั้งแรกจิตสงบมองนิ่งที่ศูนย์กลางกาย เย็นสบายมีความสุข นานเข้าจึงเห็นแสงสว่าง และเห็นดวงแก้วกลมใสคล้ายฟองอากาศ

กัลยาณมิตรผุสดี เล่าว่า นั่งนิ่งตรึกนึกถึงองค์พระ จนจิตสงบนิ่งเย็นเบาสบาย ลมหายใจละเอียดขึ้น เบาสบายมากยิ่งขึ้น บางคนเล่าว่า อยู่บ้านนั่งสมาธิตามที่ดูจากทีวีดีเอ็มซี วันที่ 3 จึงรู้สึกว่าตัวเย็น ขนลุก น้ำตาไหล ตัวพองขยายใหญ่ขึ้น คล้ายถูกดูดลงไปลึกมาก จึงลืมตาขึ้น

กัลยาณมิตรศักดิ์ชัยเล่าว่า อยู่บ้านมีเวลาพยายามนั่งทั้งวันอยู่แล้ว สงบนิ่งสว่างตลอดเวลา มีความสุขอยู่ข้างใน ตรึกถึงองค์พระไปเรื่อยๆ วันทั้งวัน ว่างเป็นต้องกำหนดพระไว้เสมอ ส่วนกัลยาณมิตรสว่างจิตเล่าว่า นั่งมองเห็นเหมือนดวงตะวันแต่แสงดูแล้วเย็นตา ขาวใสดูไปเรื่อยๆ สบายๆ สีของดวงนั้นเปลี่ยนไปเรื่อย จึงนั่งดูเพลินๆ โดยไม่คิดอะไร มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก

พระอาจารย์สอนสรุปสำหรับผู้นั่งสมาธิแล้วมีทุกขเวทนาว่า เมื่อเวทนามี แต่ใจยังนิ่งสงบอยู่ในทนนั่งต่อไป แต่เวทนาทมี แต่ใจไม่นิ่งให้ขยับก่อน ถือว่าเป็นกลอุบายอันแยบยลสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ที่สำคัญต้องเบาๆ สบายๆ ไม่เครียด ใจเย็น สงบนิ่ง ห้ามลุ้น เร่ง เพ่ง จ้อง ถือว่าผิดวิธี ผิดหลักวิชา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น