วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ถึงสวนพนาวัฒน์


ถึงสวนพนาวัฒน์
โสภณ เปียสนิท
........................................

                เมื่อความ คิดพูดทำ ของผม (ผู้เขียนบันทึก) วุ่นวนอยู่กับความอยากได้ (โลภ) ความโกรธ ความไม่รู้จริง (หลง) จิตจึงไม่ได้พักผ่อน กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ นานหลายปีเข้าจึงรู้สึกเหนื่อย เหนื่อยกายแก้ได้ด้วยการพักผ่อน ส่วนเหนื่อยใจ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะแก้ไขด้วยวิธีการอย่างไร

                โชคดีว่า ผมเคยเรียนรู้หลักวิชาการปฏิบัติธรรมวิชาธรรมกายเมื่อหลายปีก่อน จึงนึกถึงและทดลองนำมาใช้ในการคลายอาการเหนื่อยและวุ่นวายใจ โดยเริ่มจากการสวดมนต์ก่อนเล็กน้อย แล้วนั่งสมาธิต่ออีก ห้านาทีบ้าง สิบนาทีบ้าง แรก ๆ ไม่มีความมั่นใจ รู้สึกเบื่อ เพราะใจมืด ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ความรักใคร่ ความโกรธเกลียด ความง่วง ลงท้ายก็ลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ

                แม้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้อะไร แต่การนั่งภาวนาทุกครั้งสร้างความเคยชินมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนว่าเป็นนิสัย เป็นกิจวัตรประจำวัน 5.00 น. ของทุก ๆ เป็นต้องนั่งภาวนา สัมมา อรหัง พยายามกำหนดดวงแก้วกลมใสที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด นึกไปเรื่อย ทำไปเรื่อย เหมือนการเก็บหน่วยกิตของนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

                เคยถามพระอาจารย์ว่าเหตุใด เราฝึกภาวนามานานแต่ใจไม่หยุดนิ่งสักที คำตอบเรียบง่ายและมีเหตุผลที่ได้รับคือ ใจเหมือนเด็กเล็ก ๆ ที่เราปล่อยให้วิ่งเล่นตามสบายมานาน วันหนึ่งต้องการให้เด็กอยู่นิ่งๆ เด็กจึงหยุดไม่ได้ ดิ้นรนร่ำร้องไปต่างๆ นานา ใจเราเหมือนเด็กคนนั้น นานเท่าใดแล้วที่เราปล่อยให้เด็ก คือใจของเราท่องเที่ยวไปตามอารมณ์ต่างๆ ตามสบาย จนกลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ไปแล้ว เวลาจะให้อยู่นิ่งๆ จึงไม่ยอม

                อีกอย่างหนึ่ง ความต่อเนื่อง ของการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ หากต้องการเห็นผลแห่งการปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ต้องเน้นที่ความต่อเนื่อง คือ วันทั้งวันต้องภาวนา สัมมา อรหัง ไว้ในใจเสมอ คอยนึกถึงดวงแก้วไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดเสมอ ทำได้มากและต่อเนื่องเห็นผลได้ง่าย รวดเร็ว ทำได้น้อยค่อยๆ ทำ ก็นานเป็นธรรมดา

                ผมบันทึกคำสอนนั้นไว้ในใจเป็นจุดเน้น ความต่อเนื่อง เอาจริงเอาจังเป็นองค์ประกอบแห่งความสำเร็จ เพราะรู้ว่าหลายปีที่ผ่านมาผมภาวนาเพียงวันละนิดวันละหน่อยแต่ไม่ต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุแห่งความเนิ่นช้า ที่ต้องหาทางแก้ไขและเอาชนะให้จงได้ ผมเตือนตัวเองให้ลุกขึ้นสวดมนต์และนั่งภาวนาตอนเช้า แรกๆ ก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง นานเข้าก็คุ้นชินเหมือนเป็นหน้าที่

          ที่สำคัญ วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง หากตั้งใจภาวนาหนึ่งชั่วโมงเต็ม ดูเหมือนมาก แต่อันที่จริงคือ ยังปล่อยใจตัวเองให้ดิ้นรนกวัดแกว่งท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ อีกถึง 23 ชั่วโมง หมายถึงว่า เราฝึกให้ใจตัวเองเคยชินกับความวุ่นวายนานมาก เวลานั่งภาวนาใจจึงยังไม่ยอมหยุดนิ่ง

เมื่อมีกัลยาณมิตรคนหนึ่งเชิญชวนให้ไปร่วมนั่งสมาธิกับหมู่คณะที่สวนพนาวัฒน์ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการ 7 วัน เดินทางสองวัน ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างต่อเนื่อง 5 วัน นับว่าเป็นโครงการที่เหมาะสมกับสังคมยุคปัจจุบัน ผมตัดสินใจลาพักร้อนเข้าร่วมโครงการโดยไม่ลังเล เพื่อทดสอบ

เปิดปูมบันทึกประจำวันระหว่างการปฏิบัติมีใจความดังนี้

                เช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 1 คณะเดินทางโดยรถตู้สู่วัดพระธรรมกาย ปทุมธานีเพื่อร่วมทำบุญวันอาทิตย์ในตอนเช้า หกนาฬิกาเศษเดินทางถึงวัด ร่วมทำบุญตักบาตรกับหมู่คณะ เสร็จแล้วรับประทานอาหารเช้าที่ทางวัดจัดไว้รับรองสาธุชนจากจตุรทิศ

สายเข้าร่วมรับศีลนั่งสมาธิพร้อมกับสาธุชนจำนวนมาก บ่ายร่วมนั่งสมาธิอยู่รอบนอกเพิ่มบุญ เวลาว่างก็นั่งอ่านหนังสือที่มุมหนังสือ เดินชมรอบๆ บริเวณสภาธรรมกาย แล้วเดินทางสู่ศูนย์สื่อสารของวัด เข้าด้านในกราบคุณยายทองคำเป็นครั้งแรกในชีวิต หกโมงเย็นเศษ ผู้แสวงบุญพร้อมบนรถบัสวีไอพีขนาด 30 คน/คัน เดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ แวะรับประทานอาหารเย็นที่จังหวัดอยุธยา สวดมนต์ทำวัตรเย็นตามวีซีดีและพักผ่อน กลางดึกรับประทานข้าวต้มที่กำแพงเพชร

เผลอหลับไปนาน สามนาฬิกาเศษรถโยกโคลงมากจนตื่นขึ้น มองสองข้างทางเห็นความแห้งแล้งโล่งเตียนสองข้างทาง เงียบสงบอยู่ท่ามกลางแสงจันทร์นวลตาสาดส่อง สายหมอกบางเบาลอยกรุ่นผ่านต้นไม้ใบโกร๋นเก้งก้างเหลือกิ่งก้านแห้ง ผ่านหมู่บ้านหลายหมู่บ้านต่างหลับใหลหลังบานประตูหน้าต่างที่ปิดสนิท

ตีห้าเศษเดินทางถึงสวนพนาวัฒน์ ท่ามกลางอากาศอันหนาวเย็น มีน้ำขิงอุ่นๆ ไว้บริการผู้มาเยือนด้วยความอารี ก่อนแยกย้ายเข้าที่พัก ผมล้างหน้าแปรงฟันลูบตัว ยังไม่กล้าอาบน้ำ เพราะมีผู้ชำนาญพื้นที่บอกว่า อย่าเพิ่งอาบน้ำ อาจทำให้เป็นไข้หวัดได้ง่าย ต้องปล่อยให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับอากาศหนาวสักพักก่อน

                หลายคนเอนหลังลงบนเตียงนอนตามที่ฝ่ายต้อนรับจัดไว้ก่อนหน้า เพื่อผ่อนคลายความเครียดหลังการเดินทางยาวนานเกินกว่าสิบชั่วโมง ผมจรดใจเข้าศูนย์กลางกายด้วยความตั้งใจ นอนหลับตามองดวงแก้วกลมใสที่ศูนย์กลางกายเรื่อยไป เผลอลืมไปคิดเรื่องอื่นก็ดึงใจกลับมา ดึงไปดึงมาจนเคลิ้มหลับไป

                หนึ่งโมงเศษเดินทางร่วมรับประทานอาหารเช้าที่ห้องอาหาร หมู่ผู้มีบุญสวมชุดขาวทยอยเดินทางมาเป็นกลุ่มๆ ผมเดินช้าๆ ใจตรึกอยู่ที่ศูนย์กลางกายบ่อยขึ้น เก็บภาพห้องอาหารไว้ในความทรงจำโดยละเอียด คำว่า สัปปายะ ผุดขึ้นมาเองโดยผมไม่ต้องออกแรงคิดเลย

                อาหารหน้าตาสะอาดนานาชนิดทั้งไทยและเทศเรียงรายไว้พร้อมด้วยฝีมือของผู้มีประสบการณ์ มุมนั่งรับประทานเรียงรายให้เลือกตามขนาดของวงบุญ และบริวารสมบัติ เครื่องดื่มทุกชนิดมีให้เลือกตามธาตุขันธ์และใจปรารถนา ระหว่างการรับประทานอาหาร และดื่มน้ำปานะยังเปิดรายการดีเอ็มซีมีเสียงธรรมจากหลวงพ่อผู้มีเมตตาเทศน์ให้ฟังอย่างต่อเนื่อง ผมแอบเตือนตัวเองเบาๆ ว่า โภชเน มัตตัญญุตา ไม่แปลกนะครับ แม้ว่าจะถือศีล 8 งดเว้นการรับประทานอาหารมื้อเย็นแต่ดูเหมือนว่าน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นในวันสุดท้าย

                หลังการรับประทานอาหารเช้า เดินออกจากห้องอาหารดูจุดชมวิวแสนงามกลางแสงแดดอุ่น สายลมหนาวพลิ้วผ่านดอกหญ้าแกว่งไกวอย่างเริงร่า เสียงการ้องแปลกหูดังมาจากหมู่ต้นสนไกลออกไป เห็นห้องสหกรณ์มีสินค้าจำหน่ายตามที่จำเป็นด้านล่างห้องอาหาร ใกล้ ๆ กันมีรถตู้เงินด่วนไว้บริการสำหรับผู้มีบุญที่ต้องการเบิกเงินไปทำบุญเพิ่ม

                ผมพยายามนึกถึงศูนย์กลางกายบ่อยๆ ระหว่างการเดินชมบริเวณ กัลยาณมิตรพรรษา (พี่ษา) แนะนำให้ไปดูสวนไม้ดอกไม้ประดับของสวนพนาวัฒน์ มีพันธุ์ไม้เมืองเหนือ และพันธุ์ไม้ต่างประเทศอยู่มาก เดินดูเพลินจนเกือบลืมเวลาแห่งการปฏิบัติธรรม

                เดินเข้าสู่ห้องปฏิบัติธรรมอันเงียบสงบ ฝ่ายจัดสถานที่จัดให้นั่งเก้าอี้ด้านหลัง ติดป้ายว่า 5ช เพื่อให้ห้อยขาและเปลี่ยนอิริยาบถได้ง่ายยามเมื่อยขบ เพราะเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นคนใหม่ และสังขารค่อนข้างย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ 09.15 น. ผู้มีบุญกลุ่มแรกเริ่มเดินเข้าห้องปฏิบัติธรรม ผมเห็นตรงกลางห้องว่างอยู่จึงนั่งลง มองตรงไปข้างหน้า รูปหลวงปู่บานใหญ่ตั้งอยู่กลางห้อง เหมือนท่านกำลังจ้องมองมาที่ผม จึงอธิษฐานจิตขอฝากชีวิตไว้ใต้ร่มบารมีของหลวงปู่ตลอดไป และเริ่มนั่งสมาธิเป็นครั้งแรก

                10.00 น. กลับที่พักอาบน้ำชำระกายเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการปฏิบัติธรรมภาคบ่าย 11.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน ระหว่างการรับประทานอาหารยังพยายามจรดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายไว้เรื่อย แต่ยังขาดความต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถประคองใจให้คงอยู่ยาวนานต่อเนื่อง
                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น