วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

คบบัณฑิต


คบบัณฑิต

“ไอ้ทิม ไอ้ทิม” เสียงเรียกดังลั่นค่อยแว่วใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ผมรู้สึกเหมือนมีใครมาเขย่าตัวแรงขึ้นๆ “ไอ้บ้า เอ็งมานอนใต้โคนต้นโพธิ์ทำไม”

คบบัณฑิต

โสภณ เปียสนิท

...........................




                เหตุการณ์คืนนั้นยังอยู่ในความทรงจำของผมอย่างเด่นชัด ทุกครั้งที่คิดขนลุกซู่ทั่วสรรพางค์กาย มันเป็นไปได้ มันเกิดขึ้นจริงๆ กับผมเอง ปีกว่าๆ เข้านี่แล้วที่ผมต้องเล่าเหตุการณ์นั้นให้ใครคนใดคนหนึ่งฟังทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง คนฟังอย่างน้อยหนึ่งคน ไม่เล่าเรื่องนี้ไม่ได้หรือ เฮ้ย ไม่ได้คุณ มันเป็นสัญญาที่ผมได้สัญญากับ “เขา” ไว้ หากไม่เล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังตามสัญญา ผมเป็นต้องจับไข้ไม่สบายปางตายทุกคราวไป สามครั้งมาแล้วที่ผมจับไข้อย่างหนักเพราะเรื่องนี้ ที่แรกก็นึกว่าบังเอิญ แต่พอครั้งที่สามที่ผมลืมเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง สองวันเท่านั้นที่เลยกำหนดหนึ่งเดือน อาการเหมือนเดิมทุกครั้งเกิดขึ้น เริ่มจากครั่นเนื้อครั่นตัว วิงเวียนปวดศีรษะ อาเจียน ท้องร่วง บ้านหมุน นั่งยืนหรือเดินไม่ได้ทั้งนั้น มันโคลงไปหมด

 

               วิธีแก้ไขอันที่จริงก็ไม่ยาก แค่นึกบอกหนุ่มวัยกลางคนคนนั้น ก็คนที่ผมได้พบในกลางดึกคืนฝนตกในบ้านทรงไทยหลังงามนั่นเอง คุณอาจนึกถามว่า “ใครกันเล่า ไอ้หนุ่มคนนั้น” ผมขอเตือนว่า อย่าเรียกสรรพนามของเขาด้วยคำว่าไอ้โดยเด็ดขาด ใช่คุณอาจไม่เชื่อ แต่อย่าได้ลบหลู่ ไม่อย่างนั้นคุณอาจเป็นอย่างผมก็ได้ แต่อย่าถามดีกว่าว่าเขาเป็นใคร เพราะผมเองไม่รู้เหมือนกัน อย่าเพิ่งร้อง อ้าว...ซิครับ ผมไม่รู้จริงๆ  เอาอย่างนี้ดีกว่านะ ผมขอเล่าให้คุณฟังเลยดีกว่า


                บนถนนเปลี่ยวลูกรังเก่าๆ กลางดึกสงัด ผมเร่งขึ้นรถจักรยานคันเก่าคู่บารมีเร่งปั่นโดยแรงเท่าที่มีเพื่อให้ถึงบ้านโดยเร็ว ทันทีที่หนังฉลองศาลาวัดบ้านโป่งจบลง ยกนาฬิกาข้อมือขึ้นดูก่อนออกเดินทางพบว่า ตีสามกว่า อีกสองถึงสามชั่วโมงถึงจะสว่าง ระยะทางราวสามกิโลเมตร หากเร่งความเร็วได้ดี ก็แค่ 15-20 นาทีถึงบ้านท่ามะนาวได้แล้ว


                ห่างออกมาจากวัดที่จัดงานเสียงเพลงจากลำโพงค่อยๆ เงียบลงอย่างผิดสังเกต ผู้คนราวสองสามร้อยคนแยกย้ายกันกลับบ้าน บางคนตัดสินใจพักในบริเวณวัดเพื่อช่วยงานในวันรุ่งขึ้น เพื่อกินข้าววัดตามวิถีแห่งชนบทหลังจากช่วยงานวัดแล้ว แต่คนเหล่านั้นไปทางไหนกัน เหตุใดไม่มาทางเดียวกับผมเลย จะว่าคนบ้านท่ามะนาวบ้านเดียวกับผมไม่ได้มาเที่ยวชมภาพยนตร์กลางแปลงครั้งนี้ก็ไม่ใช่ เพราะได้พบปะพูดคุยกันตั้งหลายคน แล้วพวกเขากลับบ้านกันตอนไหน ทางไหนกัน ไฉนมีผมปั่นจักรยานอยู่คนเดียว


                ผมเร่งความเร็วขึ้นอีก เพราะฟ้าเบื้องหน้าตั้งเค้าครึ้มดำขึ้นอย่างรวดเร็ว ลมพัดแรงขึ้นอย่างผิดปกติ หรือว่าฝนกำลังจะตก เวรกรรม ไม่น่าเลย รู้อย่างนี้ไม่มาดูหนัง ไม่มาเที่ยวงานวัดคืนนี้จะดีกว่า เพื่อนที่นัดไว้กลับไม่ยอมมา ทั้งที่เป็นคนชวนผมเอง เพียงไม่กี่นาทีต่อจากนั้น เหตุการณ์ที่ผมหวั่นเกรงก็เกิดขึ้น ฝนเริ่มลงเม็ด ค่อยๆ หนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ความหนาวเย็นเยือกจับใจ เสื้อยืดแขนสั้น กางเกงยีนส์ไม่อาจป้องความหนาวเย็น ผมมองหาที่พักหลบฝนชั่วคราว อย่างไรก็ต้องหาให้ได้ แต่ตรงไหนดี มองซ้ายมองขวา คุณพระช่วย นั่น บ้านข้างหน้ามีแสงไฟสาดส่องสว่าง คนหลายคนแต่งกายเรียบร้อยเดินไปมา เข้านอกออกในกันอยู่เป็นระยะ ถือวิสาสะถีบรถจักรยานฝ่าสายฝนปรอยโปรยเข้าเขตเรือน “ขออนุญาตหลบฝนหน่อยครับ” ผมจอดรถพิงไว้ข้างต้นเสาซุ้มเล็กๆ หน้าบ้าน ชายกลางคนศีรษะขาวโพลนแต่งกายเรียบร้อยกวักมือเรียกเข้าร่มใต้ถุนเรือน ผมเพิ่งสังเกตบ้านหลังงามระหว่างเดินสู่ใต้ถุนเรือนพื้นปูนสะอาดสะอ้าน ทรงไทยขนาดกลาง มีเรือนเล็กๆ ล้อมรอบด้าน คนหลายคนที่เห็นแต่แรกค่อยๆ เดินหลบไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง ดูเหมือนว่ากำลังทำงานยุ่ง จนกระทั่งเหลืออยู่แค่สองคน ผมและชายผมขาววัยกลางคน


                “ไปเที่ยวงานวัดบ้านโป่งมาหรือ?” ชายกลางคนทักทายผมอย่างเป็นกันเอง ไม่น่าแปลกใจที่เขาจะเดาได้ว่าผมไปเที่ยวงานวัดมา “ใช่ครับ ฝนไม่น่าตกเลย” ผมตอบรับ และถือโอกาสบ่นฝนฟ้าไปตามเรื่อง แอบสังเกตหน้าตาท่าทีเจ้าของบ้านเกิดความรู้สึกว่าเหมือนคุ้นเคยกันมาก่อน แต่นึกไม่ออกว่าที่ไหนเมื่อไร “ทำงานอะไรอยู่ครับ ดึกขนาดนี้แล้วยังไม่หลับนอนกัน” ผมถามสิ่งที่สงสัยตั้งแต่ต้น อันที่จริงผมน่าจะถามเป็นคำถามแรก


                “มีงานค้างนิดหน่อยต้องเร่งทำ เลยอยู่ดึกช่วยกันทำให้เสร็จ” ตอบเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาไม่มีสิ่งใดน่าสนใจเป็นพิเศษ “ผมผ่านทางนี้หลายครั้งไม่เคยเห็นบ้านพี่เลย” ผมถามคำถามสำคัญอีกครั้งที่สงสัยตั้งแต่เข้ามาในบ้าน มันน่าสงสัยจริงๆ เพราะทางสายนี้ผมเคยเดินเท้าผ่านก็หลายครั้ง ถีบจักรยานผ่านอีกหลายครั้ง แต่ไม่เคยสังเกตเห็นบ้านหลังนี้มาก่อน “คุณอาจไม่สังเกต บ้านหลังนี้มันลึกเข้ามาจากถนนมากหน่อย” เขาตอบแบบธรรมดา “ผมอยู่บ้านหลังนี้มานานมากแล้ว เพราะได้เพื่อนดีให้คำแนะนำจึงได้บ้านหลังนี้มา อยู่แล้วเย็นสบาย มีความสุข” เจ้าของบ้านยิ้มเย็นแบบภูมิใจ ผมเห็นพยักหน้าเห็นด้วย “เพื่อนพี่อยู่ที่ไหนครับ?” ผมถามตรงปัญหาที่ค้างคาใจ ชายวัยกลางคนนั่งนิ่ง มองมาทางผมด้วยรอยยิ้มน้อย ๆ “เขาอยู่บ้านท่าด่าน ชื่อไท ทำไร่อ้อย” ตอบเรื่อยๆ “นานแล้วหรือยังครับเรื่องนี้” ผมถาม “นานมากแล้ว” เขาตอบ“เขาแนะนำอย่างไรครับ?” ผมสนใจถามต่อเรื่องเดิม เขาหยุดนิ่งเหม่อมองไปข้างหน้าเหมือนกำลังเรียกความทรงจำเก่าๆ ในที่สุดเขาก็เริ่มเรื่องราว


                “สมัยนั้นเรายังวัยเยาอยู่มาก อยู่ในหมู่บ้านใกล้ๆ กัน เป็นเพื่อนรักกันกินด้วยกันเที่ยวด้วยกันเล่นด้วยกันไปไหนมาไหนด้วยกัน ระหว่างนั้นผมยังมีเพื่อนกลุ่มอื่นด้วย คนอื่นๆ ชวนผมลองดื่มเหล้าเผาบุหรี่ ชวนดูหนังเต้นรำงานรื่นเริง บางคนชวนเข้าป่าล่าสัตว์เป็นอาหาร บางคนก็ชวนเล่นการพนัน ผมเป็นคนรักเพื่อนก็เอากับเขาทุกอย่าง ส่วนเจ้าไท ไร่อ้อย ไม่เหมือนเพื่อนคนอื่น ชีวิตเขาแปลกๆ พ่อแม่เอาเขาไปทิ้ง พระธุดงค์นำไปเลี้ยง ตอนเด็กจึงอยู่กับพระติดสอยห้อยตามท่านไปตลอด จนพระธุดงค์รูปนั้นมรณภาพลง ไทจึงปักหลักทำไร่อ้อยอยู่ท่าด่านนั่น เขาแนะนำให้ผมศรัทธาในพระศาสนา “รู้จักการทำทาน รู้จักการรักษาศีล รู้จักสวดมนต์ภาวนา”


                “คุณว่าเขาเป็นเพื่อนที่ดีหรือเปล่าล่ะ” ตั้งคำถามแบบลอยไม่ต้องการคำตอบ แล้วกล่าวต่อไป “ผมมาคิดดูแล้วมันก็จริง ขณะที่เพื่อนคนอื่น  กิน นอน เที่ยว หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องโดยไม่เลือกวิธีการ แต่เพื่อนคนนี้กลับมีแนวคิดที่ต่างออกไป นานเข้าความคิดของผมค่อยๆ เปลี่ยนไป โน้มน้อมไปทางเขามากขึ้น เพราะเมื่อไตร่ตรองยิ่งเห็นว่าถูกต้องมีเหตุมีผลน่าเชื่อถือ หรืออาจเป็นเพราะผมคลุกคลีอยู่กับเขามากกว่าคนอื่นก็ได้” เขาหยุดจิบน้ำชาจากถ้วยดินเผา ผมขอยกตัวอย่าง เขาแนะนำผมว่า การฆ่าสัตว์เป็นบาป โดยให้เหตุผลว่า “สัตว์ทุกชนิดรักชีวิตเหมือนเรา” ผมอ้างว่า มันเกิดมาเพื่อเป็นอาหารเรา เขาตอบกลับมาอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องคิดว่า นั่นเป็นความคิดที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่กิน เราเองยุ่งกัดเลือดนิดเดียว เราก็ตบมันจนตาย หาวิธีฆ่ามันสารพัด ทั้งที่ยุงก็เห็นว่าเลือดของเราเป็นอาหารของมันเช่นกัน”


                “คำแนะนำของเขาน่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องที่ผมไม่รู้มาก่อน เช่นบอกว่า “จิตมีหน้าที่คิด” มักคิดวนไปมาอยู่ 3 เรื่อง เรื่องดี เรื่องไม่ดี และกลางๆ แล้วจิตของเรามักคิดวนอยู่เรื่องใดเล่า คิดดีก็มีความสุข คิดไม่ดีก็มีทุกข์ คิดกลางก็ไม่สุขไม่ทุกข์ คนส่วนมากมักปล่อยให้คิดชั่วไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่า คิดชั่วมากเข้าความจำก็เสื่อม กลายเป็นคนวิตกจริต วิกลจริต จิตไร้คุณภาพ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง วิธีแก้ไขก็ง่ายๆ คือ “หยุดคิด” หรือ “ตามดูความคิด” เขาหยุดพักเหนื่อย “ทำอย่างไรครับ หยุดคิด หรือ ตามดูความคิด” ผมตามเรื่องอย่างสนใจ เขาจึงเล่าต่อ “เอาจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น นึกภาพพระที่แขวนอยู่ในคอ ให้เห็นทั้งหลับตาลืมตา หรือ เอาจิตตามดูว่า กำลังคิดอะไร คิดเรื่องดีหรือไม่ดีก็ให้คิดไป แต่ตามดูตามรู้ว่า กำลังคิดเรื่องนั้นๆ อยู่ ง่ายไหม” “นายไทแนะนำผมหลายอย่าง แต่ที่หลักๆ ก็คือ เช้าขึ้นไม่ว่าจะอย่างไร ผมต้องตักบาตรพระเป็นประจำ ตอนหลังๆ ผมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ด้วยไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ยินดีทรัพย์ของใคร ไม่ผิดศีลข้อกาเมฯ ไม่ต้องโกหกใคร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดองของเมา ทุกเช้าเย็นผมต้องทำวัตรสวดมนต์นั่งสมาธิเป็นกิจวัตร” “ยังไม่ได้เล่าเรื่องบ้านหลังนี้เลยครับ” ผมทวนความจำ “ก็นี่แหละเรื่องบ้าน เพราะผมปฏิบัติตามเพื่อนจึงได้บ้านหลังนี้มา” เจ้าของบ้านตอบ แต่ผมยังไม่ความกระจ่าง “คุณฟังเรื่องนี้แล้วช่วยเล่าให้คนอื่นฟังอย่างน้อยเดือนละครั้งได้หรือไม่?” เขาถาม “ได้ ไม่ยากอะไร ผมทำได้แน่” ผมให้สัญญา ชายเจ้าของบ้านขยับตัวลุกขึ้น “พักบนเตียงนั่นก่อน ฝนหยุดแล้วค่อยเดินทางต่อ เวลาหมดแล้ว ต้องทำงานบางอย่าง” เขาหันมาสั่งอีกครั้ง “อย่าลืมที่ว่าล่ะ” แล้วเดินขึ้นเรือนไป


                “ไอ้ทิม ไอ้ทิม” เสียงเรียกดังลั่นค่อยแว่วใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ผมรู้สึกเหมือนมีใครมาเขย่าตัวแรงขึ้นๆ “ไอ้บ้า เอ็งมานอนใต้โคนต้นโพธิ์ทำไม” เพื่อนร้องถามเมื่อเห็นผมลืมตา ผมสะบัดหน้าไล่ความเมื่อยขบมึนงง มันเป็นไปได้อย่างไร ผมจำได้ว่า ผมนอนบนเตียงในบ้านของชายผมขาวโพลนวัยกลางคนคนนั้น ที่แปลกอีกอย่าง ไม่มีร่องรอยของฝนตกหนักให้เห็นเลยแม้นิดเดียว รถจักรยานจอดพิงอยู่โคนต้นโพธิ์


                ผมเล่าเรื่องนี้มาปีกว่า ไม่เห็นมีใครสนใจ จนวันนี้จึงคิดขึ้นได้ว่า หากเขียนเล่าไว้ให้คนได้อ่านกันทั่วไป จะดีกว่าที่ผมต้องทนเล่าเดือนละครั้งไปเรื่อยๆ เจ้าของบ้านหลังนั้นคงเข้าใจ และถือว่า ผมได้ทำตามสัญญาโดยไม่ต้องเล่าเป็นรายเดือนอีกต่อไป เดี๋ยวผมต้องจุดธูปบอกเขาเสียหน่อย สาธุ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น