วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ความเป็นพหุสูต


ความเป็นพหูสูต

บ้านสองชั้นเก่าๆ หลังนั้นอยู่ลึกเข้าไปในดงไม้ปลายถนนลูกรังของหมู่บ้านหนองดินดาน

ความเป็นพหูสูต

โสภณ เปียสนิท

...........................    


            บ้านสองชั้นเก่าๆ หลังนั้นอยู่ลึกเข้าไปในดงไม้ปลายถนนลูกรังของหมู่บ้านหนองดินดาน ต้นไม้นานาพันธุ์ขึ้นปะปนร่มครึ้มแทบหาที่ว่างไม่ได้ หากไม่ใช่คนท้องถิ่นคงมองไม่ออกว่ามีบ้านซุกซ่อนอยู่ข้างในป่าไม้ หลังบ้านมีสระน้ำขนาดหนึ่งไร่ใกล้ดงกล้วยหลายชนิด ในน้ำมีบัวหลายสีสั้นไหวเมื่อสัตว์น้ำว่ายผ่านกอ มีผักกระเฉด ผักบุ้งเลื้อยชูยอดแข่งกัน ใกล้ขอบสระมีพืชผักทั้งชนิดมีหัวใต้ดิน พืชกินต้น พืชกินยอด ห่างออกไปมีพืชสมุนไพรมากมาย


                ลุงจันทน์เจ้าของบ้านเป็นคนแก่ธรรมดาสามัญเหมือนคนแก่อื่นๆ ในหมู่บ้าน แต่ไม่รู้เป็นเพราะเหตุใด หลายคนชอบมาสนทนาพาทีกับลุงอย่างสม่ำเสมอ หลังการพูดคุยในครั้งแรก เกือบทุกคนมักจะถามลุงว่า “ลุงเรียนจบชั้นไหน” คำตอบที่ลุงตอบเป็นประจำด้วยความภาคภูมิใจคือ “จบปอสี่” หลายคนทำหน้าไม่เชื่อถือ เพราะคิดว่าลุงพูดเล่น ลุงจันทน์มักพูดต่อเสมอว่า “ความรู้ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนอย่างเดียวหรอกคุณ”


                ผมชอบไปบ้านลุงจันทน์ เพราะมีความสนิทสนมเป็นการส่วนตัว อีกอย่างลุงมีผลไม้ให้ผมได้กินทุกครั้งที่ไปถึงบ้านลุง จนมีคำกล่าวติดปากว่า หิวก็กิน ง่วงก็นอน สงสัยก็ถาม ผมชอบคุยกับลุง เพราะลุงคุยสนุกเป็นกันเอง และมีความรู้กว้างขวางจนไม่น่าเชื่อว่าจะออกจากปากของลุงจันทน์ปอสี่ วันหนึ่งผมถามลุงว่า “ลุงเรียนหนังสือแค่นี้ แล้วได้ความรู้มาจากไหน” ลุงตอบแบบชาวบ้านว่า “ความรู้มันอยู่ทุกแห่ง ทุกคนสามารถหาใส่ตัวได้ทุกอย่าง” ผมถามต่อ “คนเรียนจบปอสี่มีมากมาย ไฉนลุงเก่งอยู่คนเดียว” ลุงตอบแบบง่ายๆ “คนสนใจไขว่หาความรู้อย่างจริงจังมันมีน้อย จึงมีคนเก่งน้อย อันที่จริง หากสนใจศึกษาจริงจังเก่งได้ทุกคนนั่นแหละ”


                ผมอยากมีความรู้เหมือนลุงแต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร พยายามสังเกตการกระทำของลุงก็ไม่เห็นแตกต่างจากคนแก่คนอื่นอย่างไร เห็นแต่ลุงไม่ค่อยหยุดนิ่ง เดินไปเดินมาทำโน่นทำนี่ จึงถามว่า “ทำอย่างไรจึงมีความรู้แบบลุงบ้าง” ลุงหันมามองหน้าผมเหมือนสนใจอะไรบางอย่าง “มันก็ต้องรักการมีความรู้ก่อน รักเสียแล้วทำอะไรก็สำเร็จ มันขยันของมันเอง เอาใจจดจ่อของมันเอง มันใคร่ครวญพิจารณาของมันเอง แค่นั้นแหละ” ลุงพูดง่ายๆ ผมนึกค้านในใจ มันไม่ง่ายอย่างนั้นนาลุง คนเรามันต้องนอน ต้องกิน ต้องเที่ยว ต้องเล่น ปากถามว่า “รักความรู้มันไม่ใช่เรื่องง่ายนี่ลุง” “นั่นนะซิ คนมีความรู้จึงมีน้อยไง”


                “ต้องทำอย่างไรบ้างเล่า จึงจะเก่ง” ผมถามต่อ มองลุงทำงานซ่อมคอมพิวเตอร์เครื่องเก่าๆ จนลายตา “ฟังให้มาก เล่าเรียนให้มาก จึงจะเป็นคนรอบรู้ทันเหตุการณ์บ้านเมือง” ลุงพูดต่อขณะถอดชิ้นส่วนเล็กออกจากกล่องเครื่องคอมพิวเตอร์ “มันต้องรู้ลึก รู้รอบ รู้กว้าง รู้ไกล จึงกล่าวได้ว่าเป็นพหูสูต” เรียกว่าต้องหาความรู้กันแทบทุกมิติ “อะไรนะลุง พหูสูต” ลุงใช้คำพูดแปลกจนผมเริ่มตามไม่ทัน “ความเป็นผู้ที่ได้ยินได้ฟังมามาก เป็นผู้มีปัญญามาก” “อย่างผมนี่เป็นพหูสูตกับได้บ้างไหมครับลุง” ลุงยิ้มตอบเบาๆ “ได้ซิวะ แต่ต้องทำอย่างนี้นะ ต้องตั้งใจฟัง ตั้งใจอ่าน ตั้งใจค้นคว้า ต้องจำให้ได้ ต้องท่อง ต้องใคร่ครวญ ต้องเข้าใจปัญหาอุปสรรค แค่นั้นแหละ เอ็งก็มีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่แล้ว ต้องเป็นได้แน่”


“ลุงใช้คอมพิวเตอร์เป็นได้อย่างไร” ผมถาม เรื่องส่วนตัวลุงแบบไม่ให้ตั้งตัว “ก็เห็นเด็กมันเล่นกัน ลุงก็ถามมันซิวะ” เอ้า แล้วลุงซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร” ผมถามอีก “ก็ไอ้เครื่องคอมฯของลุงมันเก่า แล้วมันเสียบ่อย จ้างคนอื่นก็แพง ลุงก็ต้องเรียนรู้เอาเอง จากตำราบ้าง ถามเขาบ้าง ซ่อมไปซ่อมมามันก็เป็นไปเอง” “แล้วลุงทำอาชีพอะไรแน่” ผมถามเพราะเห็นลุงทำทุกอย่าง ได้เงินบ้างไม่ได้เงิน แต่ก็เห็นลุงทำด้วยรอยยิ้มมีความสุข “อะไรที่ทำแล้วได้เงินพออยู่ได้ก็เอาทั้งนั้นแหละ ให้มันสุจริตก็แล้วกัน อย่างที่เอ็งเห็น ผักสวนครัวนั่นก็มีไว้ขาย ผลไม้ในสวนนั่นก็ขายได้ แจกยังได้เลย คอมฯใครเสียก็ซ่อมให้ ได้ตังค์ก็เอา ซ่อมฟรีก็ได้ ติดตั้งจานดาวเทียมโดยใช้กระทะ กระมัง ให้เพื่อนบ้านก็ทำให้ โรงเรียนให้ไปสอนหนังสือก็ไป”

Photobucket

ผมแปลกใจกับความรู้ของลุง ทั้งที่วันๆ ลุงอยู่กับบ้านหลังเก่าห่างไกลเมือง แต่กลับมีความรู้เทคโนโลยีอันทันสมัย มีความเข้าใจผู้คนในสังคม รู้แม้กระทั่งพระศาสนา เคยถามลุงว่า “แล้วเรื่องศาสนาที่น่าเบื่อนั่นลุงเรียนรู้ได้อย่างไร” ลุงมองผมอย่างแปลกใจ “ศาสนาเป็นเรื่องของชีวิต อยากรู้ชีวิตก็ต้องเรียนรู้ศาสนา ลุงชอบฟังพระเทศน์ ชอบอ่านหนังสือ มีอยู่มากมาย” ผมถามต่อ “ศาสนามีประโยชน์อะไรแก่เรา” ลุงตอบง่ายๆ “ชีวิตมีประโยชน์อย่างไร ศาสนาก็มีประโยชน์อย่างนั้น เช่นกัน”


“ผมอยู่บ้านเรียนหนังสือ จบมาทำงานหาเงินเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว แก่ชราก็ตายไปก็แค่นั้น แล้วศาสนาจะมีประโยชน์สำหรับผมในตอนไหน” ผมถามเอาแบบดื้อๆ “การดำเนินชีวิตแบบที่เอ็งว่ามา แตกต่างจากชีวิตของสัตว์อื่นๆ หมู หมา กาไก่ อย่างไรเล่า” ผมพาซื่อตอบไปว่า “ก็คล้ายกันนี่ครับ” ลุงยิ้มอย่างมีเลศนัย แล้วถามด้วยคำถามที่ผมนึกไม่ถึง “อ้าว นั่นยกสัตว์มาเท่าคน หรือลดคนไปเท่าหมาละ” ผมนั่งงงไม่รู้จะคุยต่อว่าอย่างไรดี ลุงได้ทีกล่าวต่อ “คนกับสัตว์ต่างกันตรงที่มีความคิด เลือกที่จะดีหรือเลวได้ แต่สัตว์เลือกไม่ได้ ดังนั้น เกิดเป็นคนทั้งที ต้องทำตนให้คุ้มค่าของการเกิดเป็นคน”


“ต้องทำอย่างไรครับ” ผมเรียบร้อยขึ้นมาก “ก็ศาสนาไง พระสอนอย่างไรก็ทำตามนั้น สอนให้ทำทานก็ทำทานเสีย ฝึกไปทีละน้อยๆ ให้เคยชิน ศีลไม่มีก็ทำให้มีโดยการสมาทานศีล ศาสนาสอนให้ภาวนาก็ภาวนาเสีย เริ่มจากน้อยไปหามาก มีสัตว์ที่ไหนให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาไหม แต่คนทำได้ ตรงนี้แหละคือข้อแตกต่าง เห็นหรือยังว่า ศาสนาสำคัญอย่างไร เพราะหลักการทางศาสนานี่แหละที่ทำคนให้เป็นคน”


ผมกล่าวเบาๆ เหมือนรำพึงกับลุง “เมื่อก่อนผมคิดแต่เพียงว่า คนเราเกิดมา ทำตามหน้าที่ เป็นเด็กก็เรียนหนังสือให้ดี เป็นลูกที่ดี โตขึ้นมาก็ทำงานให้ดี รับผิดชอบให้ดี แค่นี้ก็น่าจะพอ ทุกอย่างก็น่าจะดีตลอดไป แต่ตอนหลังเริ่มรู้ว่า แม้ทำทุกอย่างดีแล้ว ผลลัพธ์อาจไม่ดีเหมือนที่ตั้งใจไว้ก็ได้” ลุงเห็นยิ้มรับ แล้วกล่าว “ใช่แล้วยังมีผลกรรมเก่าที่เราทำไว้เป็นองค์ประกอบที่อาจแทรกเข้ามาเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นคนจึงไม่ควรประมาท”


 “สรุปว่า แม้ศึกษาเล่าเรียนจบปริญญาเอกก็ยังไม่เป็นพหูสูตในความหมายของพระศาสนา ใช่ไหมครับ” “ใช่แล้ว จบปริญญาสูงสุด แต่ไม่รู้หลักศาสนาก็เหมือนเรือหรือรถยนต์ที่เครื่องยนต์ดี แต่พวงมาลัยไม่มี ขาดตัวควบคุม อาจเดินลงเหวเมื่อใดก็ได้ เพราะเขาเหล่านั้น พอกพูนต่อมอัตตาให้โตขึ้นทุกวัน ยิ่งเรียนสูงอัตตายิ่งมาก” ผมชักเริ่มงงกับคำว่า อัตตา จึงถามว่า “อย่างไรครับ ต่อมอัตตาโต” ผมถามด้วยความสงสัย “ลองสังเกตให้ดี เรียนปอตรีก็นึกว่าสูงกว่าชาวบ้าน ปอโทก็ไปกันใหญ่ ปอเอกก็นึกว่าสูงสุดแล้ว ไม่มีใครเทียบเท่าแล้ว ดีกว่าดีกว่าเขาอื่นหมด หากรู้ไม่ทันกิเลสตัวเองมันจะจมไม่ลง”

“เป็นเพราะอะไรครับ” “เพราะการเรียนสมัยนี้เขาเรียนหนังสือ แต่ไม่ได้เรียนรู้ชีวิต” ลุงจันทน์กล่าวในสิ่งที่ผมไม่เคยได้ฟัง “ผมไม่เข้าใจครับลุง” “ปัจจุบันเรียนตามหลักสูตรที่กำหนดโดยคนที่มีความรู้ทางวิชาการเท่านั้น ไม่ได้สนใจว่าชีวิตประกอบด้วยอะไรบ้าง ไม่เท่าทันกิเลสในใจตน รู้เรื่องข้างนอกหมด แต่ไม่รู้เรื่องใกล้ตัว เกิดปัญหาขึ้นแก้ไขไม่ได้ นานเข้าปัญหาส่วนตัวกลายเป็นปัญหาครอบครัว กลายเป็นปัญหาสังคม และกลายเป็นปัญหาของโลก”


“คนเป็นผู้คงแก่เรียน ต้องมีความรู้สองด้าน คือวิชาการทางโลก และวิชาการทางธรรม จึงเป็นพหูสูตได้ ลุงเองก็พยายามทำตาม ศึกษาตามหลักของพระท่าน จึงได้มีวันนี้ วันที่ดูเหมือนว่าจะมีความรู้กับเขาบ้าง ไม่อย่างนั้นลุงก็แย่เหมือนกับคนอื่นนั่นแหละ วิชาการทางโลกนั้นมันกว้างขวางเรียนไม่จบหรอก เรียนจนตายยังไม่จบเลย แต่วิชาการทางธรรมนั้นยั่งยืน ยิ่งเรียนรู้ ก็ต้องปฏิบัติตาม ยิ่งทำตามยิ่งมีความสุข แต่คนเขาไม่ต้องการกัน เอ็งอยากเป็นคนแบบไหน” ลุงถามคำถามที่ผมยังหาคำตอบไม่พบ ลุงลุกขึ้นเดินไปที่โคนต้นมะม่วงร่มรื่น นั่งลงข้างกองดิน กรอกดินใส่ถุงพลาสติกขนาดเล็กถุงแล้วถุงเล่า


ผมนั่งมองลุงทำงานโน่นนี่อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ด้วยความรู้สึกชื่นชม ก็อย่างลุงนี่แหละที่เรียกว่า “พหูสูต” หรือผู้คงแก่เรียนที่แท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น