วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


การตั้งตนชอบ

โสภณ เปียสนิท

...........................   



 

                        “เรือที่ฝ่าคลื่นอยู่กลางสมุทร จะแล่นถึงฝั่งได้ นายเรือจะต้องตั้งจุดหมายปลายทางไว้ถูกต้อง และรู้จักควบคุมหางเสือให้เรือวิ่งไปไม่ผิดทิศทาง ฉันใดคนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ก็จะต้องตั้งตนชอบฉันนั้น” ผมชอบข้อเขียนข้างต้นนี้ นับตั้งแต่เข้าไปปัดกวาดทำความสะอาดห้องหนังสือของพ่อ พบข้อเขียนนี้ในสมุดบันทึกหน้าแรกเล่มเก่าแก่ คาดว่าพ่อใช้คำพูดนี้เป็นเข็มทิศชีวิต ผมแอบเก็บสมุดบันทึกเล่มนี้ไว้อ่านหลายครั้งหลายหนจนจำได้ขึ้นใจ รอเวลาอันเหมาะสมจะได้คุยกับคุณพ่อ


                         บ้านหลังเก่าของพ่ออยู่กลางดงไม้ร่มครึ้ม ใกล้ถนนสายน้ำตกเอราวัณ-กาญจนบุรี กลางความร่มครึ้มรอบบริเวณบ้าน พ่อเคยบอกว่า “คนเรามันต้องอยู่กับธรรมชาติ ชีวิตจึงจะสมบูรณ์” ผมกล่าวแย้งว่า “เดี๋ยวนี้เขามีแอร์ติดกันเกือบทุกบ้านแล้วนา พ่อ” พ่อรีบตอบเหมือนเตรียมไว้นานแล้ว “คนเราคิดเอาชนะธรรมชาติมานาน แล้วเป็นไง ในที่สุดก็พัง พ่อว่าการคิดเอาชนะธรรมชาติเป็นความคิดที่ผิด” “แล้วคิดถูกเป็นอย่างไรครับ”  ผมถามด้วยความสนใจ “คนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ต้องอยู่กับธรรมชาติ อายุจะยืน ภัยพิบัติต่างๆ ตามธรรมชาติที่เกิดขึ้น ก็เพราะเอาชนะธรรมชาตินั่นแหละ โลกร้อน น้ำท่วม ไฟไหม้ ความเครียด จิตเสื่อม  เห็นไหม ยิ่งเอาชนะธรรมชาติ ยิ่งแย่ หากไม่สำนึก ต่อไปยิ่งถูกธรรมชาติลงโทษหนักขึ้นกว่านี้อีก” ผมนิ่งคิด ทุกวันนี้ภัยธรรมชาติมีให้เห็นหนักมากขึ้น


                               “บ้านดินหลังเล็กนั่น พ่อสร้างไว้ทำไม” ถามเพราะต้องการรู้แนวคิดของพ่อ “พ่อมาจากดิน ลูกรัก ก็ต้องอยู่กับดินซิ อีกอย่างบ้านดินมันเย็นกว่าบ้านแบบอื่น” “แล้วพ่อทำไมไม่ติดแอร์แล้วจะได้เย็นสมใจ” ผมลองใจ คิดเล่นๆ ว่าพ่อคงกลัวเสียเงินค่าไฟมั้ง “ติดแอร์ทำให้โลกร้อนขึ้น เราอยู่ในโลกอย่างรู้คุณของโลก โดยไม่เนรคุณทำให้โลกเดือดร้อนไม่ดีกว่าหรือ?” แนวคิดของพ่อช่างแปลกแตกต่างไปจากคนอื่น หลายครั้งที่ผมนำไปคิดทบทวนเพื่อทำความเข้าใจอย่างลุ่มลึก


                        “พ่อมีหลักการดำเนินชีวิตอย่างไร?” ผมถามเพราะเห็นว่าชีวิตของพ่อราบเรียบ อยู่ได้ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคม พ่อไม่ร่ำรวย แต่ก็ไม่จน แม้ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิต  เช่นบ้านหลังใหญ่ รถยนต์หรู แต่ก็ไม่เห็นพ่อเดือดร้อนดิ้นรนเพื่อให้เท่าเทียมกับบ้านหลังอื่นๆ พ่อนิ่งสักครู่ แล้วตอบเสียงเรียบเย็น “ใช้เข็มทิศชีวิตซิลูก” สั้นจนผมเริ่มงง “อย่างไงครับพ่อ” “การเดินทางต้องมีเป้าหมาย ชีวิตก็เหมือนการเดินทาง หลงทางเสียเวลา หลงชีวิตก็เสียหายทั้งชีวิตเช่นกัน” ผมชักเริ่มเข้าใจ “เข็มทิศของพ่อคืออะไรเล่า” พ่อยิ้มที่เห็นผมเริ่มทำท่าฉลาด


                          “แบ่งชีวิตเป็น 4 ช่วง ปฐมวัย วัยเด็กศึกษาเล่าเรียน ถัดมาวัยเติบโตก็ครองเรือนสร้างเนื้อสร้างตัว มัชฌิมวัย วัยกลางคนศึกษาธรรม ปัจฉิมวัย วัยชราปฏิบัติธรรม เตรียมตัวตาย เห็นไหมลูกรัก เข็มทิศชีวิตในแต่ละวัย ดูซิว่าชัดเจนดีหรือไม่” ผมชักจะเห็นเข็มทิศของพ่อชัดเจนขึ้น เข็มทิศของเด็กคือเล่าเรียน โตแล้วครองเรือนสร้างชีวิต กลางคนศึกษาธรรม แก่ชราเตรียมตาย ผมมองเรียบง่ายงดงาม แต่รายละเอียดยังมีอีกมาก

                             “เด็กก็เรียนกันทุกคนอยู่แล้ว คงไม่ยากใช่ไหมพ่อ” มองเห็นว่าการเดินตามเข็มทิศในวัยเด็กนี่ง่าย แต่พ่อสวนกลับอย่างเร็วว่า “ไม่ง่ายอย่างนั้นหรอกลูก เรียนเท่าที่มีตามโรงเรียนยังไม่พอ เป็นการเรียนตามวิชาการทางโลก เพื่อเลี้ยงปากท้องเท่านั้น” แสดงว่าพ่อยังมีสิ่งที่ต้องเรียนอื่นๆ อยู่ในใจ จึงถามพ่อว่า “ต้องเรียนอะไรอีกเล่าครับพ่อ”  ท่านตอบเรื่อยๆ “ต้องเรียนวิชาชีวิตด้วย เพื่อเลี้ยงดูจิตใจ” “คืออะไรครับ” “หลักธรรมทางศาสนาไงลูก จึงจะเรียกว่า “ตั้งตนไว้ชอบ” ต้องรักษาเป้าหมายชีวิตให้มั่นคง ต้องฝึกให้เป็นคนมีศรัทธา ได้แก่ มีเหตุผล เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ต้องศรัทธาขั้นพื้นฐาน ๓ ประการ คือ เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง เชื่อในพระปัญญาการตรัสรู้ของพระองค์ เชื่อในกฎแห่งกรรม เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”


                          ผมทอดสายตามองต้นจำปีที่พ่อปลูกไว้ร่มครึ้มข้างหัวบันไตบ้านส่งกลิ่นหอมชื่นใจ “ดูว่าผมจะต้องศึกษาอีกมาก” พ่อยิ้มตอบเบาๆ “ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น พระสอนว่าอย่าทำตนเป็นชาล้นถ้วย” “พ่อต้องอธิบายเพิ่มเติมหน่อยว่าเป็นอย่างไร” “เป็นเรื่องพระในนิกายเซ็นรูปหนึ่งสอนศิษย์ที่คิดว่าตนเองมีความรู้มากไม่ยอมลดทิฏฐิมานะด้วยการรินชาใส่ถ้วยจนเต็ม เต็มแล้วก็ไม่ยอมหยุด จนศิษย์คนนั้นถามว่า “ท่านอาจารย์ ชาล้นถ้วยแล้ว” พระอาจารย์หันมาตอบทันทีว่า “เห็นไหมว่า อย่าทำตนเป็นชาล้นถ้วย” ศิษย์คนนั้นเขาใจได้ทันทีว่าอาจารย์สอนเขาด้วยหลักธรรมเข้าให้แล้ว”


                          “ทำอย่างนี้แล้วได้ประโยชน์อย่างไรเล่าครับ” ผมถามต่อ “แยกได้หลายข้อ เช่น พึ่งตนเองได้  เป็นผู้ไม่ประมาท เป็นผู้เตรียมไว้ดีแล้วก่อนตาย เป็นผู้มีความสวัสดีในทุกที่ทุกสถาน เป็นผู้บูชาพระรัตนตรัยอย่างสูงสุดเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ เป็นตัวอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง เป็นผู้ป้องกันภัยในอบายภูมิ เป็นผู้มีแก่นคน สามารถตักตวงประโยชน์จากชีวิตได้เต็มที่ เป็นผู้ได้รับสมบัติทั้ง ๓ โดยง่าย คือ มนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ ตามหลักการทางพระศาสนา”


                       “วัยคฤหัสถ์ คือวัยสร้างครอบครัว อันนี้ไม่เห็นมีอะไรพิเศษเลย ทุกคนก็มีครอบครัวกันเป็นปกติกันอยู่แล้ว” ผมว่าไปตามที่คิด พ่อบอกว่า “วัยนี้มุ่งเน้นการขยันทำมาหากินตามหลัก “อุอากะสะ” คือ อุทฐานสัมปทา มีความขยัน อารักขะ ได้ทรัพย์มาแล้วต้องรักษา กัลยาณมิตตตา มีเพื่อนดี สมานชีวิตา เลี้ยงชีวิตสม่ำเสมอ


                       พ่อเห็นผมนิ่งอยู่จึงกล่าวต่อไป “วัยกลางคน คือวัยสืบต่อจากการเรียนหนัก ทำงานหนัก ก้าวสู่จุดสูงสุดของชีวิตแล้ว ควรชะลอการงานลง หันมาศึกษาหลักธรรมทางศาสนาหนักขึ้น เพื่อปรับตัวตามวงจรของชีวิตที่สังขารเริ่มเสื่อมโทรมลง ทำความเข้าใจรอบด้าน ทำสิ่งที่มีประโยชน์ ระยะสั้นดูแลสุขภาพให้ดีทั้งกายใจ ดูแลระบบเศรษฐกิจในบ้านให้ดีตลอดชีวิต ระยะยาววางแผนการเดินทางไกลข้ามภาพข้ามชาติ ด้วยการศึกษาหลักของทานศีลภาวนา ประโยชน์สูงสุดคือพระนิพพาน”


                      “โอ้ โห... คนเก่าๆ เขาคิดกันขนาดนี้เลยหรือ” ผมประหลาดใจ พ่อยิ้มพยักหน้ารับ “ยังมีวัยสุดท้ายอีกนี่ครับ แก่แล้วน่าจะปลอดให้อยู่ว่างๆ บ้างนะครับ” ผมชักเห็นใจคนแก่ อยากให้พักผ่อนแบบสบายๆ ไม่ทำอะไรให้เหนื่อยอีก “ปัจฉิมวัย วัยสุดท้ายยิ่งต้องเข้มแข็ง เพราะเรียนรู้ชีวิตมามาก ต้องเตรียมตัวเดินทางไกล” พ่อเห็นตรงกันข้ามกับผมสิ้นเชิง “เมื่อจะสิ้นชีวิตอยู่แล้ว เรียกว่าเดินทางไกลได้อย่างไร” ผมถามเพราะยังคลางแคลงใจ “หากเราเชื่อตามหลักการทางศาสนาว่าชีวิตมีการเวียนว่ายตายเกิด ตายแล้วเกิดอีก ในภพ 3 กามภพ ภพที่ยังมีการเสพกาม หมายถึงสวรรค์และภพอื่นๆ ที่ต่ำกว่า รูปภพ เป็นภพที่ยังมีรูป ซึ่งหมายถึงรูปพรหม อรูปภพ หมายถึงภพของอรูปพรหมที่ไม่มีรูป วนเวียนอยู่แบบนี้เรียกว่าเดินทางไกลหรือไม่เล่า” ฟังพ่อพูดแล้วทำให้ผมมองเห็นว่าชีวิตคือการเดินทางไกลอย่างไร


                     “แล้วมันเวียนว่ายไปได้อย่างไรครับ” ผมไม่รู้จริงๆ พ่อจึงพูดว่า “ไปตามแรงกรรม คือการกระทำของแต่ละคน ทำดีใจใสไปภพภูมิที่ดี ทำไม่ดีใจหมองไปภพภูมิที่ไม่ดี” “ภพภูมิที่ดี และไม่ได้คืออะไรครับ” ผมยิ่งงงหนักขึ้น เพราะไม่รู้มาก่อนว่ามันจะมีความรู้ประเภทนี้ให้ศึกษาอยู่ “ภูมิที่ดีคือเกิดเป็นมนุษย์และสวรรค์จนถึงพรหมทุกชั้น ภูมิที่ไม่ดี คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน”


                       พ่อเห็นผมฟังนิ่งเงียบเหมือนมึนงงความรู้ จึงกล่าวสรุปไว้อย่างน่าฟัง “ที่ว่ามาทั้งหมดคือเหตุผลว่า  การตั้งตนไว้ชอบมีความจำเป็นอย่างไร เกิดมาเป็นคนต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ มิฉะนั้นก็ถือว่า เกิดมาแล้วตายฟรี ไม่ได้พัฒนาชีวิต แม้ว่าจะเรียนจบปริญญาเอกก็ตาม”


                     ศึกษาเล่าเรียนวิชาการมาค่อนชีวิตจนจบปริญญาโท นึกไม่ออกว่าเคยได้เรียนรู้วิชาการแบบที่พ่อเล่าให้ฟังนี่เมื่อใด นึกย้อนหลังไปแล้วน่าเสียดายวันเวลาที่ผ่านไป เพราะความไม่รู้จึงทำผิดพลาดไปมากมาย แต่ไม่เป็นไร ยังพอมีเวลา ต่อแต่นี้ไปจะพยายามตั้งตนไว้ชอบตามแนวทางของพ่อที่แนะนำไว้


1 ความคิดเห็น:

  1. เกิดเป็นคนแล้ว การตั้งตนไว้ชอบเป็นสำคัญ
    ไม่อย่างนั้นอาจกลับเกิดในทุกข์ หรือ อบายภูมิอีกครั้ง
    และอีกหลายครั้ง

    ตอบลบ