วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บูชาคนที่ควรบุชา


บูชาคนที่ควรบูชา

ผมนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก

บูชาคนที่ควรบูชา

โสภณ เปียสนิท

...........................



                ความเชื่อที่ว่า “การเดินทางหมื่นกิโลเมตรดีกว่าการอ่านหนังสือหมื่นเล่ม” ทำให้ผมรักการเดินทาง แม้จะเดินทางผ่านยุโรป ออสเตรเลีย อินเดีย บ้านใกล้เรือนเคียงอีกหลายประเทศ ยังไม่ประทับอยู่ในความทรงจำของผมเหมือนเมื่อครั้งที่แบกเป้เดินทางเข้าสู่บ้านเล็กในป่าลึก เหมืองปิล็อค อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี


                บุคคลระดับหัวหน้าหมู่บ้านกลางป่าใกล้เคียงเหมือง 3 คน นายอูถะ พะโต๊ะ ยะฉิ่น และอีก 1 อดีตมหาเปรียญหลายประโยค มีโอกาสได้พบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ หรือไม่ก็ธรรมจัดสรร ผมโชคดีที่ได้มีส่วนร่วมนั่งรับฟังความคิดเห็นในครั้งนั้น การสนทนาเป็นไปอย่างน่าตื่นเต้น

                หลังการพูดคุยสัพเพเหระมากมายหลายเรื่อง ก็มาถึงเรื่องของสิ่งที่พวกเขาเคารพนับถือ ต่างฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนกันอย่างมีเหตุผล หัวหน้าหมู่บ้านสามคนกล่าวสรรเสริญสิ่งที่ตนเคารพบูชาด้วยนำเสียงแสดงความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม


                “หมู่บ้านเราเคารพบูชาบรรพบุรุษ คือวิญญาณของผู้ล่วงลับไปแล้วต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน ท่านเหล่านั้นเป็นที่พึ่งในใจของพวกเราตลอด” นายอูถะกล่าวอย่างภาคภูมิใจในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน


                “พวกเรานับถือต้นไม้ใหญ่ ท้ายหมู่บ้านเป็นที่พึ่ง เหมือนเป็นประธานของหมู่บ้าน” นายพะโต๊ะ กล่าว


                “ส่วนพวกเรานับถือภูเขาใหญ่สูงลิบลิ่วกลางป่านั่นเป็นที่พึ่งอันสูงสุด ความศักดิ์สิทธ์ทุกอย่างอาศัยอยู่บนนั้น ทุกคนต่างให้ความเคารพ” ยะฉิ่นยิ้มกว้าง ความอบอุ่นฉายฉานบนใบหน้าของเขาอย่างเด่นชัดเมื่อได้กล่าวถึงสิ่งที่เขาเคารพ แล้วหันมาถามอดีตนักบวชเรียกง่ายๆ ว่าท่านมหา “แล้วนายเล่าบูชาสิ่งใดเป็นที่พึ่งที่ระลึก”

                “ผมนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก” เขาตอบ “อะไรคือพระรัตนตรัยของคุณ” อูถะถามด้วยความสนใจ ท่านมหา หันหน้ามาตอบด้วยสีหน้าเรียบเฉยเหมือนเคย “พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์” สร้างความงุนงงให้กับวงสนทนา ทุกคนจ้องมองเขา แสดงอาการอยากรู้ว่าท่านมหา นับถือสิ่งใดกัน เขากล่าวต่อไป “พระพุทธ คือคนธรรมดาสามัญ ฝึกตนสร้างบารมีจนรู้แจ้งอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พระธรรมคือคำสั่งสอนของพระองค์ ส่วนพระสงฆ์คือผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอน รู้แจ้งเห็นจริงตามคำสั่งสอนนั้น”


                นายอูถะกล่าวว่า “เราบูชาบรรพบุรุษ เพราะเป็นผู้มีพระคุณต่อเรา เจ็บไข้ได้ป่วย เราร้องขอให้ผีช่วยรักษา เรามีความสงบสุขอยู่ได้เพราะผี ดังนั้นเราจึงนับถือผี”


                พะโต๊ะจึงกล่าวเหตุที่บูชาต้นไม้ใหญ่ว่า “ต้นไม้ใหญ่มีวิญญาณเทพเจ้าอยู่อาศัย เราจึงบูชา ร้องขอสิ่งที่เราต้องการ น้ำท่วมฝนแล้งพายุพัด ดินถล่ม ล้วนมาจากความพิโรธของวิญญาณ เราต้องอาศัยวิญญาณที่อยู่ในต้นไม้เป็นที่พึ่ง เซ่นไว้บูชาอ้อนวอนขอร้องให้ช่วย พวกเราจึงสงบสุข หากทำให้วิญญาณโกรธ เราต้องถูกลงโทษ ก็ต้องเซ่นไหว้ให้ท่านพอใจหายโกรธ เราจึงพ้นภัย”


                ยะฉิ่นจึงกล่าวต่อว่า “วิญญาณเทพเจ้าของเราอยู่บนภูเขาสูง ข้างบนโน่น เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ไม่มีใครขึ้นไปรบกวนบ่อยนัก แม้ป่าชายเขานั่นก็ยังไม่ค่อยมีใครเข้าไปใกล้ เราสร้างศาลไว้ตรงตีนเขา เพื่อให้เทพเจ้ามารับเครื่องเซ่นไหว้บูชา ทุกคนในหมู่บ้านต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ ผิดกฏเกณฑ์ถือว่าผิดผี ต้องรับโทษหนักเบาแล้วแต่ความกรุณาของเทพเจ้า”

                มหากล่าวว่า “เรานับถือพระไตรรัตน์ เหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน คล้ายเชือกสามเกลียว เพราะท่านสอนให้รู้ตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ท่านสอนให้พึ่งตนเอง” ยะฉิ่นสงสัยถามว่า “เมื่อต้องพึ่งตนเองแล้วเคารพพระไตรรัตน์ไปทำไม” มหาตอบนิ่งๆ ว่า “เพราะท่านสอนให้เรารู้ความจริงของชีวิตไง ท่านสอนให้รู้จักการเกิด แก่ เจ็บ ตายว่าเป็นเรื่องธรรมดา มิใช่เป็นเพราะการบันดาลของเทพองค์ใด”


                “เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยนายทำอย่างไร” อูถะถาม “เราคิดว่า การเจ็บไข้เป็นเรื่องธรรมดาของสังขาร พยายามรักษาดูแลร่างกายของเราไว้ใช้สร้างบุญให้ยาวนานต่อไป” มหาตอบทันที “ถ้ารักษาแล้วไม่หายเล่า” พะโต๊ะถามต่อ “ทำดีที่สุดแล้วก็ต้องทำใจว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนต้องตาย” มหาตอบเหมือนไม่ใยดีกับการเกิดการตาย ยะฉิ่นถามต่อว่า “ตายแล้วทำอย่างไร”


                มหาตอบเร็วเหมือนเตรียมคำตอบไว้ก่อนแล้ว “ตายก็เป็นธรรมดาเหมือนกัน ไปตามกรรมของตนที่ทำไว้” อูถะถามว่า “วิญญาณพระรัตนตรัยไม่มาช่วย แล้วพาไปอยู่ด้วยหรอกหรือ” มหาตอบว่า “ไม่หรอก เขาไปตามกรรมของเขาเอง ทำดีจิตผ่องใสตายแล้วไปสู่สุคติ ทำไม่ดีจิตเศร้าหมองตายแล้วไปสู่ทุคติ” ยะฉิ่นถามว่า “นายได้อะไรจากการนับถือพระตรัยรัตน์เล่า” “ได้รู้ความจริงของชีวิต” เขาถามต่อ “คืออะไร” “คือการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เป็นธรรมดาของชีวิต” มหาตอบง่ายๆ เหมือนเคย


                “แล้วมีประโยชน์อย่างไร” เขาถาม “เมื่อรู้แล้วก็ไม่ต้องกลัวแก่เจ็บตาย” “แล้วยังแก่เจ็บตายเหมือนเดิมหรือ” “ใช่เหมือนเดิม” “แล้วดีอย่างไร” “ดีที่เมื่อรู้ว่าต้องตาย จะได้ไม่เผลอไปทำชั่ว เมื่อไม่ทำชั่ว อยู่หรือตายก็ไม่เดือดร้อน” “ฟังดูก็เขาทีอยู่ คนนับถือพระรัตนตรัยแล้วต้องทำอย่างไร” “ง่ายมาก งดเว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์แค่นั้น”


                “งดชั่วทำอย่างไร” “งดชั่วก็แค่ถือศีลห้า ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดในกาม ไม่โกหก ไม่ดื่มของเมา” “ทำดีเล่าทำอย่างไร” “ทำดีก็ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา” “ทำทานอย่างไร” “ตักบาตรพระ บริจาคสิ่งของ ช่วยเหลือคนอื่น ให้อภัยคนอื่น” “ศีลพอเข้าใจ แต่ภาวนาทำอย่างไร” “ภาวนาคือ หยุดความคิด และ คิดถึงความเป็นจริงของชีวิต” “อย่างไร ไม่เข้าใจ” “หยุดคิดมีหลายวิธีเช่น นึกถึงดวงแก้วใสแจ๋วกลางท้อง ภาวนาคำว่า สัมมา อรหัง เรื่อยไป”


                  “คิดถึงความเป็นจริงของชีวิตทำอย่างไร” “เช่นคิดว่า ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เมื่อก่อนเป็นเด็กตอนนี้แก่ต่อไปก็ต้องตาย ร่างกายนี้เป็นทุกข์ ร่างกายนี้ยึดถือไม่ได้ เรียกว่า เป็นไปตามหลักแห่ง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” “คิดแบบนี้แล้วได้อะไร” “ได้บุญ” “บุญคืออะไร” “บุญคือความสุข” “เราสามคนนับถือบรรพบุรุษ ต้นไม้ ภูเขา ได้บุญหรือไม่” “ก็ได้บ้างเหมือนกัน” “ได้อย่างไร” “นับถือบรรพบุรุษ ถือว่าเป็นความกตัญญู นับถือต้นไม้ถือว่าได้ความร่มเย็น เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ นับถือภูเขาได้การอนุรักษ์ธรรมชาติเช่นกัน”


                  “คนที่ควรบูชามีลักษณะอย่างไร” “เป็นผู้มีความสงบ รักบุญ คือผู้ที่ทำทานเสมอ รักษาศีลจนเป็นปกติ เจริญภาวนาเป็นนิจ เชื่อกฎแห่งกรรม คือการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กตัญญูรู้คุณ อ่อนน้อมถ่อมตน” “ผู้สงบเป็นอย่างไร” “ไม่ตื่นเต้นเพราะโลกธรรม 8 ประการ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ มีสุข และมีทุกข์ อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นแล้วทำใจได้ ไม่ดีใจเสียใจจนเกินไป”

                 “พวกเรามีสิ่งที่นับถืออยู่แล้ว นับถือพระรัตนตรัยด้วยได้หรือไม่” “ได้ซิ ยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งสูงสุดใครทำคนนั้นก็ได้” “ทำทานแล้วได้อะไร” “ทำทานแล้วทำให้มีทรัพย์ ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เป็นการส่งเสริมการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แล้วพวกนายไม่ชอบหรือ” “รักษาศีลเล่าได้อะไร” “รักษาศีลทำให้ไม่ขี้โรคไม่ตายก่อนวัยอันควร ทรัพย์สินไม่สูญหาย บุตรธิดาอยู่ในโอวาท มีคนเชื่อฟัง ไม่ขี้หลงขี้ลืม” “ก็น่าจะพอเชื่อได้ แต่การภาวนานั้นเล่า ได้อะไร”


                 “ข้อนี้สำคัญ เพราะเป็นเรื่องของปัญญา” “ปัญญาต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมิใช่หรือ” “นั่นปัญญาโลก ที่กำลังพูดนี่ปัญญาธรรม” “คืออย่างไร” “ต้องหยุดคิด จึงเกิดปัญญา ต้องทำใจให้นิ่ง” “ทำอย่างไรนะ พวกเราทำไม่เป็น” “ไม่ยากหรอก แรกเริ่มสวดมนต์ก่อนก็ได้ เช้าเย็น ทั้งวันว่างก็ว่า “สัมมา อรหัง” ไปเรื่อยๆ ทำงานไปก็ว่าไปในใจ ไม่เดือดร้อนใคร” “ทำทาน รักษาศีล ภาวนาทั้งหมดแล้วได้อะไร” “ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข แม้ตายแล้วก็ไปดี” “นานเท่าใดจะเห็นผล” “ทำทันทีเห็นผลทันที” “เห็นอย่างไร” “ให้ทานรักษาศีลปุ๊บ มีความสุขปั๊บทันทีไม่ต้องรอ ภาวนาจนใจหยุดนิ่งปั๊บ มีความสุขปั๊บเช่นกัน”


                 “พวกเรานับถือต้นไม้ใหญ่บ้าง ภูเขาบ้าง วิญญาณบรรพบุรุษบ้างสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน เพราะไม่มีคนบอกสอนแนวทางที่ถูกต้อง พวกเราทุกข์บ้างสุขบ้าง ดำรงชีวิตอยู่ไปวันๆ วันนี้พวกเราเรียนรู้สิ่งใหม่ และจะลองนำไปปฏิบัติดู โลกนี้ยังมีสิ่งที่เราควรเคารพบูชาอื่นที่ดียิ่งกว่า”


                 ผมบุกป่าฝ่าดงท่องเที่ยวอีกนานกว่าจะกลับบ้าน รำพึงถึงวันนั้น มีคำถามค้างคาใจว่าเหตุใดผู้นำหมู่บ้านกลางป่าดอยจึงคลายความเชื่อเดิม ยอมรับนับถือพระรัตนตรัยอันเป็นสิ่งที่ควรบูชาที่ตนไม่เคยได้เรียนรู้อย่างง่ายๆ เหมือนหนึ่งว่าเคยเคารพนับถือมาก่อน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น