วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


มงคล38 ห่างไกลคนพาล

ผมเดินตามเข้าอาศัยร่มไม้แห่งเดียวกัน ลุงเงยหน้าขึ้นมองแล้วยื่นห่อข้าวเหนียวหมูหวานในถุงพลาสติกให้ พร้อมกล่าวเชิญชวน “กินข้าวด้วยกันซิ”

ห่างไกลคนพาล

โสภณ เปียสนิท

...........................

                ชายชราคนนั้นร่างกายผอมโซมอมแมมเสื้อผ้าเก่าขาดปะร่องแร่งรุ่งริ่ง เดินกลางเปลวแดดเปรี้ยงยามเที่ยงวัน ผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวเก่าแก่เล็กๆ ริมทางเดินเท้ากลางเมืองหัวหินไปไม่ไกล เลี้ยวไปยืนข้างถนนมองซ้ายมองขวาหลายรอบเพื่อข้ามไปอีกฟากหนึ่ง นานสองนานก็ยังเห็นยืนเก้ๆ กังๆ อยู่ที่เดิม ความเชื่องช้าของลุง และยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นมากขัดขวางการข้ามถนน


                ผมจ่ายเงินค่าก๋วยเตี๋ยวแล้วเดินตาม ทันลุงยืนอยู่เกาะกลางถนนจึงยื่นมือจับแขนลุงจูงเดินข้ามถนน ถึงฝั่งตรงข้ามแล้วลุงหันหน้ามากล่าวคำขอบใจด้วยรอยยิ้มเต็มหน้า เผยริ้วรอยของกาลเวลาแต่งแต้มเต็มใบหน้า เดินไปหยุดใต้ร่มต้นหูกวางริมทางเดิน ลุงล้วงมือลงไปในย่ามใบเก่าหยิบห่อข้าวเหนียวหมูหวานออกมา พร้อมหย่อนก้นนั่งลงบนขอบปูนกั้นรั้วโคนต้นหูกวางต้นนั้น


                ผมเดินตามเข้าอาศัยร่มไม้แห่งเดียวกัน ลุงเงยหน้าขึ้นมองแล้วยื่นห่อข้าวเหนียวหมูหวานในถุงพลาสติกให้ พร้อมกล่าวเชิญชวน “กินข้าวด้วยกันซิ” ผมสั้นหน้าปฏิเสธ ไม่ลืมกล่าวคำขอบคุณ “กินแล้วครับ ขอบคุณ อยู่ที่ไหนครับลุง” ผมเริ่มการสนทนาแบบเรื่อยๆ เหมือนฆ่าเวลา “อยู่แถวนี้แหละ” ลุงตอบกว้างๆ แบบไม่ตั้งใจตอบนัก ยื่นมือที่มีห่อข้าวเหนียวหมูไปตามถนนเพชรเกษม “ตรงไหนครับลุง” ต้องการคำตอบที่ชี้เฉพาะ “โน่น บนสะพานลอยใหม่หน้าวังฯ สบาย ลมเย็นดี” ลุงพูดเหมือนธรรมดา “มีเพื่อนอยู่ด้วยกันไหม” “มีเหมือนกัน ไปๆมาๆ บ้างคืนพวกมันก็มา บ้างคืนก็ไม่มา” “มีกันกี่คนลุง” “2-3 คน แค่นั้นแหละ” “ให้เขามาอยู่ด้วยทำไม ไล่ให้ไปซิ” ถามแบบลองใจลุง “เฮ้ย ไล่เขาได้ยังไง คนเหมือนกัน ลำบากเหมือนกัน แบ่งกันอยู่แบ่งกันกิน” ลุงบอกปรัชญาชีวิต “ห้องน้ำห้องท่าเข้าที่ไหนนี่” ผมอัศจรรย์ในการเอาตัวรอดของลุงกลางเมือง “ไม่ยากหรอก เข้าป่าบ้าง ห้องน้ำสาธารณะบ้าง” “แล้วได้เงินจากไหนเล่าลุง” ถามข้อมูลเชิงการงานอาชีพ “ขอบ้าง ขอทำงานบ้างแลกเงินบ้าง” “มีบ้างไหมที่ไม่ได้เงิน” “มีซิ” ลุงตอบง่ายๆ “แล้วลุงทำอย่างไร” ผมรุกไปเรื่อยๆ “จะไปทำอะไรได้ ไม่มีก็อดซิ” “ไม่หิวหรือไง” “หิวซิ แต่มันต้องอดทน คนไทยเราใจดี วันนี้ไม่ได้พรุ่งนี้ก็ได้” ลุงเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

           “แล้วออกจาบ้านมาแบบนี้ลูกหลานไม่ห่วงหรือ?” 

ผมซักประวัติของลุงทางอ้อม

 “มีซะที่ไหนเล่า ลูกหลาน” “อ้าว...” ผมทำหน้างง “แยกย้ายกันไปหมด” 

ลุงกล่าวแบบไม่ใส่ใจใยดี “แสดงว่าลุงเคยมีเมียมีลูก” 

ผมถามต่อเนื่องแบบไหลตามน้ำ “เคยมี ลุงก็มีฝีมือเหมือนกันนา” 

ลุงว่าเข้านั่น “แล้วไงจึงแยกย้ายกันไปเล่าครับ” “หมดเงิน มันเลยไปกันหมด” 

ลุงทอดตามองไปกลางถนนรถยนต์วิ่งขวักไขว่ 

พยับแดดเต้นระบำหลากลีลาเนิ่นนาน เหมือนความคิดของลุงย้อนหลังไปไกล


                ผมนั่งนิ่งรอฟังลุงไปเรื่อยๆ แบบไม่เร่งร้อน “แสดงว่าลุงเคยมีเงิน” 

ถามแบบหยั่งเชิงคนชราที่โดยสภาพปัจจุบันแล้วไม่อาจทำให้เชื่อได้ว่าจะมีทรัพย์สมบัติพัสถานใดๆ “ก็มีบ้างเหมือนกัน” ลุงตอบแววตาวามขึ้นกว่าเดิม “มากไหมลุง” 

“อะไรล่ะ?” “ก็ทรัพย์สินเงินทองที่ลุงเคยมี” ผมพลอยอยากรู้ “ไม่มากหรอก 

ตึกสองฝั่งถนนตรงสี่แยกนั่น เอ็งเห็นไหม” ลุงถาม 

ผมมองตามนิ้วของลุงชี้ด้วยความงุนงง “เห็นซิครับ แล้วไง” “ไม่แล้วไงหรอก

 เมื่อก่อนที่ตรงนั้นเป็นของลุงมากกว่า 8 ไร่ พ่อของลุงให้ไว้”

 “โอ้โห นี่ถ้าเป็นตอนนี้ ลุงรวยเละ” ผมอุทานเหมือนเห็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก

 “ที่อื่นๆ อีก 50 กว่าไร่ ในหัวหินนี่แหละ” ลุงพูดเรื่อยๆ 

“ท่านให้เงินไว้มากหรือเปล่าครับ” ถามแบบตรงประเด็น “สิบกว่าล้านมั้ง 

ลุงจำไม่ค่อยได้มันนานมากแล้ว” ลุงเหลือบตาขึ้นมองสูง

 เหมือนกำลังมองหาจิ้งจกตุ๊กแกบนต้นไม้ “มากขนาดไหนนี่”

 เป็นคำถามที่ไม่ค่อยฉลาดนัก ผมรู้ตัว “ใครจะไปรู้ จำได้ว่า 

ตอนนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 สตางค์” ลุงเทียบราคา “แล้วไงต่อไป” 

ผมต้อนลุงไปเรื่อย “จะยังไง ตอนนั้นลุงมีเพื่อนๆ มากมายจนจำไม่ได้ 

กิน เที่ยว เล่น ดื่ม เรียกว่าพร้อม สุรานารีภาชีกีฬาบัตร” 

ลุงนิ่งคิดและตอบ “ยิ่งตอนพ่อแม่ตายแล้วยิ่งหนักขึ้น”

 “แล้วลูกเมียละลุง” นึกขึ้นได้ว่าลุงเคยมี 

“เมียก็ได้มาจากวงสุรานั่นแหละ เพื่อนแนะนำ” 

“นานไหมลุงกว่าเงินจะหมด” “สี่ห้าปีหลังพ่อแม่ตายเงินก็หมดเกลี้ยง 

อย่างอื่นก็ไม่เหลือ” ลุงว่าต่อแบบไม่อาลัยใยดี


      “แล้วญาติมิตรแยกตัวหลบลี้หนีหน้าไปตอนไหนเล่า” 

“มีเงินนับว่าน้อง มีทองนับว่าพี่” ลุงตอบแบบแนวคิดลึก 

“ยากจนเงินทองพี่น้องไม่มี เอ็งพอเดาได้ไหมว่า พวกเขาไปกันตอนไหน”

 ลุงถามให้คิดเอง “ครับ พอเดาได้บ้าง” 

“ลุงพอเล่าเหตุการณ์ตอนนั้นหน่อยได้ไหมครับ?” ถามต่อให้ลุงตอบไปเรื่อยๆ


     ลุงผู้ชราทอดสายตาฝ้าฝางมองเงาไม้ลายรูปร่างหลากหลาย

บนพื้นปูนฟุตบาทถนนยาวนาน ความเงียบงันของการสนทนา

ทำให้เสียงอื่นข้างถนนดังกระหึ่มขึ้นมาแทน ไม่น่าเชื่อว่าตลอดเวลาที่คุยกันมา

 เหมือนว่าจะไม่ค่อยได้ยินเสียงเหล่านี้ 

“มันเป็นเรื่องของการคบเพื่อนไม่ดี ลุงว่านะ” ลุงเริ่มต้นเล่าเรื่องเก่าย้อนอดีตเนิบนาบ


        “ไอ้ทองเป็นเพื่อนรักของลุง โน่นตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนประถม 

มันถูกไล่ออกจากโรงเรียน เพราะลักไก่ของภารโรงข้างโรงเรียน 

แล้วมันหายไปนับแต่นั้น ส่วนลุงเรียนจบประถมสี่แล้วออกมาอยู่บ้านนั่งๆ 

นอนๆ วันหนึ่งไอ้ทองมันกลับมา แรกๆก็ชวนกันเล่นซุกซน นานเข้าก็พัฒนาไปเรื่อยๆ

 แอบสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ยาฝิ่น กัญชา ลักเล็กขโมยน้อย ยิ่งนานวันก็ยิ่งถลำลึก 

แต่ยังดีที่ไม่มีใครจับได้ไล่ทัน เพื่อนพ้องที่คบหาล้วนมีประวัติร้ายกาจ

ในแต่ละด้านอย่างกว้างขวาง” ลุงหยุดเล่า ดื่มน้ำแก้คอแห้งช้าๆ


       “ตอนพ่อแม่เสียชีวิตลุงมีเงินมาก แต่อายุยังน้อย ญาติมิตรตักเตือนข้าไม่เคยฟังจนคนเหล่านั้นถ่อยห่างไปจากชีวิตข้าจนหมด เพื่อนข้างกายล้วนเป็นนักเลงหัวไม้ ทั้งสุรานารีภาชีกีฬาบัตร รู้สึกเหมือนว่าชีวิตลุงรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด”


       “แล้วลูกเมียของลุงละครับ” เหมือนว่าชีวิตของลุงไม่น่าจะมีอุปสรรคอย่างไร

 “เพื่อนแนะนำให้ในวงเหล้านั่นแหละ ต่างคนต่างเมา” 

“ไม่นานทรัพย์สินหมดไปเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ กว่าลุงจะรู้ตัวหนี้สินรุงรัง 

ต้องทยอยขายไร่นาสาโทจนหมดไป” “ชีวิตหลังจากนี้ก็ตกต่ำไปเรื่อย

 เมียหอบลูกสองคนหนีไป เพื่อนพ้องมาขู่เข็ญขอเงิน ไม่ได้ก็ขอยืม ยืมไม่ได้ก็ข่มขู่ 

ไม่ได้จริงๆ ก็ห่างหายไปทีละคนสองคนจนหมด บ้านหลังสุดท้ายก็ต้องขายใช้หนี้

 ข้ายิ่งประชดชีวิตดื่มหนักจนเป็นบ้า” 

ลุงหยุดพูดพร้อมกลืนน้ำลายลงคอ เหมือนกลืนก้อนอดีตลงท้องไปพร้อมกัน


         “ต่อจากนั้นข้าก็เป็นอย่างที่เห็นนี่แหละ เกือบสี่สิบปีเข้านี้แล้ว มีชีวิต

อยู่เหมือนตายแล้ว แต่มันก็ยังไม่ยอมตายสักที เบื่อเต็มที” 

คำพูดของลุงเหมือนไม่ใยดีกับชีวิต “แล้วเพื่อนพ้องญาติมิตรไม่มีใคร

กลับมาหาลุงบ้างหรือไร” ผมถามเพื่อให้บรรยากาศพ้นจากความเงียบงัน

อันน่าอึดอัด “ก็เห็นๆ กันอยู่บ้าง บางคนลุงจำได้ดี แต่น่าแปลก

ไม่มีใครจำลุงได้เลย สะบัดหน้าหนีกันหมด” 

“ลุงไม่กลับไปขอความช่วยเหลือบ้างหรือ?”

 “เมื่อก่อนก็เคยเหมือนกัน แต่ตอนนี้ไม่แล้ว เรามันตัวกาลีไม่มีใครคบหรอก” 

ลุงหยุดพูดเหมือนใช้ความคิด “โบราณกล่าวว่า ยามบุญมากาไก่กลายเป็นหงส์ 

ยามบุญลงหงส์ไก่กลายเป็นหมา” ลุงยิ้มเย้ยตัวเอง ผมทึ่งกับวาทะอันคมคาย

ของลุงไม่น้อย ประกายแห่งผู้ทรงความรู้ทะลุเสื้อผ้าเก่าขาดที่ลุงสวมใส่


         “พระสอนว่า คบคนพาล พาลพาไปหาผิด นี่คือสัจธรรม ขอให้คุณจำไว้ให้ดี 

อย่าพาชีวิตตัวเองจมปลักด้วยการคบคนไม่ดีเหมือนลุง” 

ยกตัวเองเป็นอุปกรณ์สั่งสอนได้อย่างลงตัว “คนไม่ดีเป็นอย่างไรบ้าง มันดูยากนาลุง” 

ผมถามเหมือนลุงเป็นครู “ต้องยึดหลักนะ อย่าคบเพื่อนที่ชวนกินเหล้า

 เที่ยวผู้หญิง(ชาย) เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน ดื่มน้ำเมา ขี้เกียจ” 

ลุงว่าคล่องเหมือนท่องจำจนเข้ากระดูกดำ


         “ตอนนี้มันแย่หน่อยลุง เพื่อนที่คบอยู่มีแต่ 6 ชนิดที่ลุงกล่าวนั่นแหละ 

น้อยบ้างมากบ้าง หาเพื่อนดียากเต็มที ทำอย่างไรดีลุง” ผมถามปัญหาหนักอก

 “เลือกคบที่ชั่วน้อยที่สุดซิคุณ และเพื่อนนั้นไม่ต้องมีมากก็ได้ โบราณสอนว่า 

“มีเพื่อนแท้แค่หนึ่งถึงจะน้อย ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา

 เหมือนมีเกลือนิดหน่อยด้อยราคา ยังดีกว่าน้ำเค็มเต็มทะเล” 

กล่าวถึงตรงนี้ลุงขยับตัวลุกขึ้นช้าๆ “ลุงไปก่อนนะ ต้องกลับไปบ้าน” 

“ที่ไหนละลุง” ผมงง ก็ลุงว่าไม่มีบ้าน “โน่น บนสะพานลอยไงคุณ โชคดีนะ”


            ลุงค่อยๆ เดินจากไป ผมจมปลักกับปรัชญาความคิดที่ลุงบอกเล่าให้ฟัง

อย่างลึกซึ้งเนิ่นนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น