วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม

บ่ายวันนั้นอากาศร้อนอบอ้าว ผมเดินทางถึงหัวหินเช่าจักรยานปั่นรอบเมือง แวะพักที่ศาลาริมทางที่เขาช่องประดู่

อยู่ในถิ่นเหมาะสม

โสภณ เปียสนิท

...........................    

                           


                       บ่ายวันนั้นอากาศร้อนอบอ้าว ผมเดินทางถึงหัวหินเช่าจักรยานปั่นรอบเมือง แวะพักที่ศาลาริมทางที่เขาช่องประดู่ ที่สวยงามไม่ว่าจะมองไปมุมไหน ด้านหลังเส้นทางราดยางเก่าๆ ทอดผ่านสู่บ้านหนองพรานพุก เลยเรื่อยจรดถนนบายพาสนอกเมืองหัวหิน ด้านหน้าเป็นป่าไม้หน้าแล้งลาดต่ำลงไป ไกลไปจนถึงหมู่บ้านหนองแกเก่า และกลุ่มบ้านจัดสรรใหม่ๆ หลายกลุ่มเรียงรายสลับต้นไม้สีเขียวบางอย่าง สุดแผ่นดินเขาตะเกียบยืนกลางแดดจัดจ้า เลยจากนั้นคือแผ่นน้ำทะเลสีครามยาวจรดขอบฟ้าทิศตะวันออก


                        นั่งเหม่อมองท้องน้ำกว้างไพศาล รับลมเย็นเพลินๆ เหมือนหยุดเวลาไว้ชั่วขณะ ความสุขเกิดขึ้นภายในใจอย่างเงียบๆ โดยไม่ต้องมีเพื่อนมีทรัพย์อันเป็นสิ่งนอกกายใดๆ เลย ขณะนั้นเพื่อนนักเดินทางหญิงรูปร่างทะมัดทะแมงปั่นจักรยานเข้ามาจอดใกล้ๆ และเดินทอดน่องมาหยุดยืนด้านซ้ายมือ เหม่อมองไปทิศทางเดียวกัน เนิ่นนานกว่าเธอจะหันมองมาทางผม เรายิ้มให้กันเงียบๆ เหมือนว่ารู้จักกันมานาน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งระหว่างการเดินทางของชีวิต หากไม่ใช่ชาตินี้ก็ชาติที่ผ่านมา



                           “สวัสดีครับ” ผมทักทายด้วยรอยยิ้ม เธอตอบคำทักทายด้วยรอยยิ้มเปี่ยมสุขยิ่งกว่า อาจเป็นเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมจริงอย่างที่นักคิดทางสังคมเขาว่า ผมมีความรู้สึกอยากสนทนากับเธอ อาจเป็นเพราะระหว่างการเดินทางอันยาวนาน ผมมิได้มีโอกาสสนทนากับคนแปลกหน้ามากนัก


                                “ให้ความรู้สึกดีนะครับ” ผมเริ่มบทสนทนาแบบสั้วๆ เหมือนไม่รู้ว่าจะคุยอะไรที่เป็นสาระไปมากกว่านี้ พร้อมมองไปทางภาพทิวทัศน์ ณ ที่ท้องฟ้าจรดท้องน้ำทะเลแสนไกล

                                   “อะไรหรือค่ะ” เธอถามสีหน้าเหมือนแต่งแต้มไว้ด้วยเครื่องหมายคำถามเล็กๆ “ก็ทิวทัศน์เบื้องหน้านั่นไง” ผมไขปริศนาในใจของเธอ “แล้วให้ความรู้สึกอย่างไร” คำถามเหมือนแกล้งทดสอบภูมิรู้ของผมว่าเป็นนักเจรจาที่ดีหรือไม่เพียงใด


                              ผมหยุดนิ่งทำสีหน้าใช้ความคิดเพื่อเรียงร้อยถ้อยคำให้งดงามสมเป็นสุนทรียพจน์ สอดคล้องกับสุนทรียภาพที่เห็นเบื้องหน้า สายตาเพ่งมองที่สุดขอบฟ้า เธอมองตาม เป็นวินาทีแห่งความสงบนิ่ง ดวงใจสองดวงสอดประสานรับกระแสจากภาพ “ท้องฟ้าสีครามสดใสสงบนิ่งทอดทับอยู่บนน้ำทะเลจนเกิดเส้นขอบฟ้ายาวไกลเหมือนเส้นรอบโลก ให้ความรู้สึกสงบสุขแก่ผู้มองดูได้อย่างลึกล้ำ” ชำเลืองมองเห็นเธอพยักหน้ารับ ผมกล่าวต่อ “หมอกสีหม่นที่ขอบฟ้านั่นก็บอกว่า แม้สายตาของผู้คนจะยาวอย่างไรก็มีจุดสิ้นสุด จึงเรียกว่า “สุดสายตา” บ่งชี้ว่า ทุกอย่างมีขีดจำกัด” แอบมองเธอพยักหน้ารับเป็นครั้งที่สอง “ต้นไม้ใบโกร๋นใกล้ๆ นี่ บวกกับสีเขียวของป่าไม้ที่ไกลออกไปโน่น ทำให้เกิดความรู้ว่า ชีวิตของคนย่อมมีทั้งสุขและทุกข์” เธอพยักหน้าเห็นด้วยอีกครั้ง

                       “แหม หลากหลายความรู้สึกเหลือเกินนะ” เธอมองหน้าผมยิ้มๆ เกินกว่าผมจะเข้าใจว่า เธอซาบซึ้งตามความรู้สึกแท้จริงหรือประชดประชัน แต่น้ำเสียงเหมือนมีแววชื่นชม “คุณชอบการเดินทางหรือ” ผมถามเรื่อยเฉื่อยเหมือนไม่จริงจังนัก “ไม่รู้นะว่าชอบหรือไม่ ระเหเร่ร่อนไปเรื่อย จนเหมือนหนึ่งว่า การเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว” เธอตอบเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา “แล้วคุณล่ะ” เธอถามคำถามเดียวกัน “ก็เหมือนคุณนั่นแหละ”


                              “เหตุใดคุณไม่ลงหลักปักฐานที่ใดสักแห่งที่คุณชอบ” ผมตั้งคำถามใหม่ “ยังไม่เจอที่ถูกใจมั้ง” เธอตอบทีเล่นทีจริง “แล้วที่ที่คุณต้องการเป็นแบบไหน” คำถามค่อนข้างยาก เธอตอบเหมือนรู้คำถามมาก่อนหน้านี้แล้ว “ที่อยู่อาศัยเป็นที่สบาย อาหารเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย ธรรมเป็นที่สบาย” “พูดเหมือนท่องมาเลยนะ” ผมอดแซวไม่ได้ “เอ...น่าสนใจอธิบายหน่อยได้ไหมครับ” ผมสนใจปรัชญาชีวิตของเธอ “ที่อยู่เป็นที่สบาย คือมีสถานที่อำนวยความสะดวกพร้อม มีโรงพยาบาล สถานศึกษา วัดวาอาราม แหล่งน้ำอุปโภคบริโภค อากาศถูกกับร่างกายของแต่ละคน” เธอตอบเหมือนค้นหาสิ่งเหล่านี้มาจนพูดได้คล่อง “พอเข้าใจครับในข้อนี้ แล้วข้ออื่นเล่า” ผมถือโอกาสถามต่อเนื่อง


                            “อาหารเป็นที่สบาย คือมีแหล่งอาหาร มีตลาดให้จับจ่ายซื้อหาได้สะดวก” เธอกล่าวเรื่อยๆ ทอดสายตามองทะเลโพ้น “อาหารสำคัญขนาดนั้นเลยหรือ” ถามเพื่อให้เธอได้อธิบาย “ใช่ซิคุณ อาหารสำคัญนะ ฝรั่งยังกล่าวไว้ว่า “You are what you eat” เธอว่าเป็นภาษาอังกฤษแสดงภูมิรู้ทางภาษา “แปลว่าอะไรครับ” ถามแบบถ่อมตัว “คุณก็คือสิ่งที่คุณรับประทานนั้นเอง ร่างกายจะอ่อนแอหรือแข็งแรงก็เพราะอาหาร พระก็สอนว่า “ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง” เธอแสดงภูมิรู้ทางศาสนาอีกทางหนึ่ง “ผมชักเห็นคล้อยตามคุณแล้วหล่ะ เชิญข้อต่อไปดีกว่า”


                           เธอหันหน้ากลับมามองหน้าผมด้วยรอยยิ้มนิดๆ ผมรู้สึกนิยมบุคลิกทวงทีกริยาของเธอมากขึ้น “บุคคลเป็นที่สบายคือ มีเพื่อนมีมิตรที่ดีมาก คนในสังคมเป็นคนดีมีศีลธรรมความเป็นอยู่สงบสุข” “อยู่ที่ไหนเราก็สร้างความเป็นมิตรกับคนที่นั่นไม่ได้หรือ” ผมถาม “ทำอย่างนั้นก็ได้ แต่จะรู้ได้อย่างไรมิตรเหล่านั้นเป็นคนดี” คำตอบของเธอเริ่มทำให้ผมงงยิ่งขึ้น “การเป็นมิตรกับทุกคน มิดีกว่าเลือกเป็นมิตรกับบางคนดอกหรือ” ผมตั้งคำถามด้วยความสงสัย “ไม่ใช่หรอกคุณ ไม่เคยได้ยินคำพระที่ว่า “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล” ดอกหรือ พระยังสอนให้เลือกคบคนเลย เพื่อนดีเรียกว่า “กัลยาณมิตร” การอยู่ในที่มีคนดีอยู่แล้วย่อมเป็นการเลือกที่ถูกต้องกว่า จริงไหม” “จริงครับ” ผมอดคล้อยตามเธอไม่ได้


                             “ธรรมเป็นที่สบายคือ เป็นสถานที่มีหลักธรรมคำสั่งสอนของพุทธศาสนา” เธอว่าต่อ “ข้อนี้ก็น่าสงสัย สามข้อแรกน่าจะเพียงพอสำหรับชีวิตคน ที่จะอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องมีข้อสี่นี่ก็ได้” ผมถามด้วยความเห็นว่า คนเราอยู่ได้ด้วยปัจจัยสี่คือ มีที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค แค่นี้เพียงพอ เธอมองหน้าผมด้วยใบหน้านิ่งๆ แต่แฝงแววจริงจัง “การรู้หลักธรรมของพระศาสนาคือสาระของชีวิต” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงนุ่มลึก “รู้ไหมว่า หมูหมากาไก่แตกต่างจากคนอย่างไร” คำถามเธอทำเอาผมตั้งรับไม่ทัน เธอจึงกล่าวต่อ “คนสามารถฝึกฝนตามหลักธรรมได้ แต่สัตว์ฝึกไม่ได้ หากเราไม่มีหลักธรรม ชีวิตเราจะต่างจากสัตว์เหล่านั้นอย่างไร” ผมนิ่งฟังอย่างทึ้งในปรัชญาของเธอ “คุณเดินทางแสวงหาปรัชญาชีวิตหรือ” ผมถามหลังฟังถ้อยสนทนามานาน “ก็ไม่เชิง การเดินทางเป็นความรื่นรมย์ของชีวิต ปรัชญาแสวงหาได้ในทุกที่” เธอเอ่ยถึงแนวทางดำรงชีวิตแบบเธอ จนผมมองเธอสวยขึ้นจนผิดตา ความว้าเหว่ที่สะสมมายาวนานผลักดันให้ผมรู้สึกไม่อยากเอ่ยคำอำลา


                            ตะวันคล้อยต่ำลับเหลี่ยมเขาด้านหลัง เงาภูเขาและต้นไม้แห้งทอดทับยาวไกลไปข้างหน้า เขาตะเกียบตั้งตระหง่านติดขอบทะเล เขาสนามชัยอยู่ไกลออกมาหลังคาโบสถ์สะท้อนแสงแดดวับแวมเรืองรอง ควันไฟบางเบาหลายแห่งลอยฟ่องสู่ท้องฟ้า หลังคาหมู่บ้านจัดสรรเรียงรายหนาแน่นมากตอนใกล้ขอบน้ำทะเล ขณะที่ม่านราตรีคลี่กางฟ้าค่อยๆ สลัวราง แสงไฟฟ้าเริ่มสว่างเรืองขึ้นตรงจุดนั้นจุดนี้ เพิ่มมากขึ้นจนภาพที่เห็นสวยงามคล้ายดวงดาวหล่นจากห้วงฟ้ามาเกลื่อนกล่นอยู่บนดิน


                         “เรา” สองคนต่างเหม่อมองภาพสวยงามดุจเทพแห่งศิลปกรรมบรรจงปั้นแต่งแต้มสีสันอันวิจิตรด้วยดวงใจอันเปี่ยมสุข เธอหันมามองผมด้วยสายตาอ่อนโยน ผมมองเธอด้วยความอบอุ่นในส่วนลึกของดวงใจอันไม่เคยเป็นมาก่อน หรือว่าที่แห่งนี้เป็น “การอยู่ในถิ่นอันเหมาะสม” แห่งหนึ่งของผม


                         ที่ตรงนี้ผมนั่งพักแล้วสบาย บุคคลเป็นที่สบายก็คือเธอนั่นไง ผมได้พูดคุยสนทนาด้วยแล้วรู้สึกสบาย ธรรมเป็นที่สบาย คือหลักธรรมในการดำเนินชีวิตที่เธอคุยให้ผมฟัง ส่วนอาหารเป็นที่สบายอยู่ในแผนขั้นต่อไปของผมที่จะชวนเธอไปรับประทานด้วยกัน


                         “เวลาแห่งความสุขแสนสั้น” เธอกล่าวเลื่อนลอยเหมือนรำพึง “ช่างตรงกับใจผมนัก” ผมเติมต่อ “แต่ใกล้ค่ำมากแล้ว ทานข้าวเย็นด้วยกันนะครับ” ผมเอ่ยชวน ต้องการเวลาแห่งความสุขให้ยืนยาวต่อไป “ค่ะ” เธอรับคำสั้นๆ เธอขยับกายลุกขึ้นยืนก้าวเดินไปที่จักรยานจูงเดินมุ่งหน้าสู่เมืองหัวหินอย่างช้าๆ  ผมจูงจักรยานเดินเคียงอย่างเงียบงัน เบื้องหลังความมืดครอบคลุมขุนเขาทะมึนช้าๆ เบื้องหน้าแสงไฟบนเสาส่องสว่างเรือง


                        ใครจะรู้ว่าวันข้างหน้าเราสองอาจได้อยู่ในถิ่นที่เหมาะสมร่วมกันก็ได้...




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น