วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การมีศิลปะ


8. การมีศิลปะ

วัดแห่งนั้นอยู่บนไหล่เขาสูง ด้านหน้าวัดมีทางบันได และทางลาดขึ้น หลังวัดมีทางรถยนต์วกวนขึ้นถึงวัดด้านบนเพื่ออำนวยความสะดวก

การมีศิลปะ

โสภณ เปียสนิท

...........................    


                    วัดแห่งนั้นอยู่บนไหล่เขาสูง ด้านหน้าวัดมีทางบันได และทางลาดขึ้น  หลังวัดมีทางรถยนต์วกวนขึ้นถึงวัดด้านบนเพื่ออำนวยความสะดวก กุฏิพระหลังเล็กๆ จำนวนมาก ซุกซ่อนอยู่ในซอกหลืบเหลี่ยมเขา ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่น้อยนานา ผมชอบเดินขึ้นเขาด้านหน้าวัด ด้วยสาเหตุหลายประการ ทางขึ้นเดินได้สะดวก และอยู่ใต้ร่มเงาไม้นานาพันธุ์ มีสัตว์ป่าหลายชนิดปรากฏให้เห็น การเดินขึ้นเขาเป็นการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง ระหว่างเดินขึ้นเขา อาจฝึกปฏิบัติธรรมด้วยการกำหนดสติกับการก้าวเดินขึ้นแต่ละก้าวช้าๆ กว่าจะถึงวัดก็ได้บุญจากการปฏิบัติธรรมไปก่อนแล้วเกือบชั่วโมง

                   ผมรู้จักวัดแห่งนี้เพราะการวิ่งออกกำลังกายตอนเย็น ผ่านทางขึ้นเขาสายเล็กๆ จึงทดลองเดินบ้างวิ่งบ้างตามเส้นทางนั้นขึ้นไปเรื่อยๆ มีศาลาหลังเล็กใกล้ร่มไผ่รวกและต้นลั่นทมอยู่ด้านขวา ด้านซ้ายไกลออกไปข้างหน้ามีกุฏิหลังเล็กๆ เรียงรายตามเส้นทางขึ้นเขาไปเรื่อยๆ คาดว่ามีกุฏิเกินกว่าสิบหลังขึ้นไป วันนี้ผมไม่ได้พบหลวงพ่อเจ้าอาวาส เพราะท่านติดภารกิจ พบผู้ปฏิบัติธรรมใส่ชุดขาวคนหนึ่งนั่งสงบเงียบสำรวมอยู่ใต้ร่มไม้ใกล้ศาลา ผมขอโอกาสพูดคุยระหว่างการรอพบหลวงพ่อ “ปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดนี้นานแล้วหรือยังครับ” ผมถามเมื่อเห็นผ้าขาวเงยหน้าขึ้นสบตาและมีท่าทีพร้อมสำหรับการปฏิสันถาร “เกือบปีแล้วครับ” เขาตอบเรื่อยๆ พร้อมส่งยิ้มให้ผมอย่างเป็นมิตร “มาจากไหนครับ” “จากนครปฐม” คำตอบด้วยน้ำเสียงสงบราบเรียบ ผมถือโอกาสถามต่อแบบชวนคุย “รู้จักวัดนี้ได้อย่างไร อยู่ตั้งไกล” “เคยพบหลวงพ่อมาก่อน แล้วท่านบอกให้มาเที่ยวที่วัดดูบ้าง ก็เลยมา มาแล้วก็ชอบ เพราะสงบดี มีโอกาสปฏิบัติธรรมได้เต็มที” ผมฟังแล้วรู้สึกว่า ผ้าขาวคนนี้ชอบการปฏิบัติธรรมมาก คนรักการปฏิบัติธรรมหาได้ยากมากในสังคมปัจจุบัน “มีกิจวัตรอย่างไรครับ อยู่ที่วัดแห่งนี้” ผมถามเพราะอยากรู้ชีวิตของผ้าขาวว่าเป็นอย่างไร “ของทางวัดหลวงพ่อท่านปล่อยตามชอบของแต่ละคน ไม่ว่าพระเณรและอุบาสก ส่วนผมเองนั้น ชอบที่จะปฏิบัติไปเรื่อยๆ เช้าช่วยพระคุณเจ้ารับบาตร แปดโมงรับประทานอาหาร ต่อจากนั้นก็เริ่มปฏิบัติไปเรื่อย เดินบ้างนั่งบ้างตามร่มไม้ใกล้กุฏิ ถ้าพระเรียกใช้ก็ไปทำถวายท่าน เย็นทำวัตรเย็น จากนั้นนั่งสมาธิภาวนาด้วยตนเอง เดินจงกรมข้างกุฏิ จนใกล้เที่ยงคืน เสร็จแล้วนอน ตีสามตื่นสวดมนต์ทำวัตรเช้า เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาไปชนหกโมงเช้า ตามพระไปบิณฑบาต วนเวียนอย่างนี้เป็นประจำ แค่นี้แหละครับ”

                   ฟังแล้วทึ่ง ไม่น่าเชื่อว่า คนเราจะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยกิจกรรมเพียงแค่นี้วนไปเวียนมาโดยไม่เบื่อ “แล้วไม่เบื่อหรือครับ ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจ เป็นผมกลุ้มตายไปแล้ว” ชายชุดผ้าขาวมองหน้าผมนิดหนึ่ง มีร้อยยิ้มที่มุมแก้ม “ถ้าเราชอบและชินก็ไม่เบื่อหรอก เมื่อก่อนผมก็เหมือนคนอื่นๆ ศึกษาเล่าเรียน เมืองนอกเมืองนา มีครอบครัว หางานทำงาน ดื่มกินเที่ยว ไปมาหมดแล้ว ไม่มีสิ่งใดท้าทายอีกแล้วครับ สู้ความสงบไม่ได้สักอย่าง”


                      “บ้านเดิมอยู่ที่ไหนครับ” ผมถือโอกาสถาม “อยู่นครปฐมครับ” “มีความสนใจทางธรรมตั้งแต่เมื่อใด” ผมยังสนใจอยากรู้ว่าหนุ่มสังคมสมัยใหม่หันมาสนใจทางศาสนาได้อย่างไร “นึกไม่ค่อยออกนะครับ ตั้งแต่สมัยเด็กโน่น รู้แต่ว่าเจอหนังสือทางธรรมก็อ่านไปเรื่อย พบวิธีการปฏิบัติธรรมแบบไหนก็นำมาปฏิบัติตามทดลองไปเรื่อย ไม่ได้เรื่องอะไรหรอกครับ แต่ว่าชอบสวดมนต์ภาวนา ทำใจนิ่งๆ ว่างๆ นานเข้ากลายเป็นติด ต้องทำทุกวัน ไม่ทำเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง” ผมเห็นว่าแปลก ติดอะไรไม่ติดไปติดในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ติด คือติดการสวดมนต์ภาวนา ผ้าขาวบอกผมว่าเขาเรียนจบปริญญาโทวิศวกรรมโยธา ทำงานบริษัทเอกชน เงินเดือนแสนกว่าๆ เบื่อหน่ายแล้วจึงลาออกมาปฏิบัติธรรม “ไม่เสียดายเงินเดือนหรือ?” ผมถามทีเล่นทีจริง “ไม่เสียดายหรอก ตอนนั้นรู้แล้วว่า มีความท้าทายอื่นให้ศึกษาค้นคว้า ทางโลกมันเรียนรู้ไม่สิ้นสุด”


                        “วันนี้มาวัดเพราะต้องการรู้เรื่องธรรมะ เพราะสงสัยว่า มงคล38 ข้อ 7 เป็นพหูสูต และข้อ 8 การมีศิลปะ ต่างกันอย่างไร ดูแล้วไม่น่าจะมีความสำคัญขนาดนั้น” ผมวกเข้าเรื่องที่ต้องการรู้กะทันหันจนชายผู้หันหน้าเข้าวัดนิ่งไปชั่วขณะ ท่าทีกำลังใช้ความคิดเรียบเรียงคำตอบ


                        “พหูสูตเป็นเพียงการเตรียมตัวเท่านั้น เปรียบเหมือนขั้นทฤษฏี แต่จะช่วยเราได้จริงต่อเมื่อรามีศิลปะสามารถนำความรู้ที่มีออกมาใช้ได้อย่างดีเท่านั้น ซึ่งเปรียบเหมือนขั้นปฏิบัติ ทั้งสองข้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความสำคัญเท่ากัน” ผ้าขาวพูดต่อเมื่อเห็นผมนั่งฟังด้วยความสนใจ “เมื่อก่อนผมก็สงสัยเหมือนคุณ โชคดีที่ผมมีเคล็ดลับพิเศษ” พูดแล้วหยุดเหมือนต้องการให้ตื่นเต้น “อย่างไรครับ” ผ้าขาวกล่าวเหมือนเป็นเรื่องปกติสำหรับเขา “ทุกครั้งที่เกิดข้อสงสัยผมจะนั่งสมาธิทำใจให้นิ่ง พอใจนิ่งจะเกิดนิมิตเห็นพระรูปร่างสมส่วนสวยงาม คะเนอยู่วัยกลางคน มาช่วยอธิบายให้ทราบทุกอย่างที่สงสัย คำตอบที่ได้ไม่เคยพลาดเลย จำได้ว่า พระบอกว่า มงคลทั้งสองข้อ เป็นเรื่องของการหาความรู้ และการใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีพ จนบางคนกล่าวว่า “มีศิลปะเพียงอย่างเดียวทำให้เลี้ยงชีพได้โดยง่าย”


                    “และต้องฉลาดมีศิลปะทั้งสามด้านสามระดับ ทางใจ เห็นความสำคัญของความรู้ต่างๆ มึการวางแผนอย่างเป็นระบบ ทางวาจานำมาใช้ด้วยการเจรจาแสวงหาความรู้เรื่อยไป ทางกายใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม” “ผมอยากเป็นคนมีศิลปะกับเขาบ้าง ผมต้องทำอย่างไร” ผ้าขาวทำท่าสงบนิ่งแล้วกล่าวช้าๆ “ก็มีวิธีการฝึกตนเองให้มีศิลปะเช่นกัน ต้องฝึกตนให้เป็นคนช่างสังเกต ต้องตั้งใจทำงานทุกอย่าง ต้องทำด้วยความประณีต ต้องปรับปรุงงานให้ดีขึ้น ต้องตีสนิทกับผู้มีศิลปะเพื่อขอความรู้จากเขา และที่สำคัญที่สุดคือต้องฝึกสมาธิภาวนาเป็นประจำ” “การมีศิลปะนั้นมีตัวอย่างมากมาย เช่น สุนทรภู่มีศิลปะในการใช้ภาษาไทยด้วยการเขียนกลอน จึงใช้ศิลปะข้อนี้เป็นเบิกทางไปสู่ความสำเร็จของชีวิต บทกวีของเขาเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ  แม้สิ้นชีวิตไปนานแล้ว ผลงานของเขากลับได้รับความนิยมมากขึ้น กลายเป็นวรรณกรรมอันทรงคุณค่า”


                          “ไมเคิล แจ็คสัน มีศิลปะทางการร้องเพลง ประสบความสำเร็จในการร้องเพลงตั้งแต่อายุยังน้อย ใช้การร้องเพลงเลี้ยงชีวิตตราบสิ้นอายุขัยในวัย 50 ปี สุดท้าย ก่อนตายเขามีแผนการแสดงคอนเสิร์ต 50 รอบในประเทศอังกฤษ ตั๋วเข้าชมขายหมดภายในระยะเวลาอันสั้น เขาตายเสียก่อน ผู้จัดกังวลว่า คงจะต้องคืนตั๋ว สิ่งที่ลงทุนไปแล้วต้องสูญเปล่า แต่ตั๋วชมคอนเสิร์ตกลับกลายเป็นที่ต้องการของทุกคน มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า” “ในอดีตมีชายคนหนึ่งขาสองข้างเป็นอัมพาต เล็กลีบพิกลพิการ แต่มีศิลปะการดีดก้อนหินได้แม่นยำราวจับวาง เขาใช้ฝีมือดีดกรวดใส่ใบไม้เป็นรูปต่างๆ นานา พวกเด็กๆ ต่างชอบใจมารุมล้อมขอให้เขาดีดกรวดใส่ใบไม้เป็นรูปสัตว์บ้าง รูปวิวทิวทัศน์บ้าง จนวันหนึ่งความทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระราชาจึงเรียกเขาเข้าวัง ให้ทำหน้าที่ดีดขี้แพะใส่ปากอำมาตย์นักตีฝีปากพูดมากไม่หยุด เพราะต้องการสั่งสอนให้เขาระวังการพูดเสียบ้าง ผลงานครั้งนั้น ทำให้เขาได้รับการเลี้ยงดูจากพระราชาอย่างดี เหล่านี้เป็นตัวอย่างแห่งการมีศิลปะ”


                        “เป็นอย่างไร เห็นความสำคัญของการมีศิลปะหรือยัง ว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด” ผ้าขาวถามอย่างอารมณ์ดี ผมเห็นว่าตะวันบ่ายคล้อยแล้ว หลวงพ่อยังไม่กลับมา จึงขอตัวเดินทางกลับบ้านก่อน แม้ไม่ได้สนทนาธรรมกันหลวงพ่อ แต่โชคดีที่ได้สนทนากับผู้ขาวผู้มีความรู้คนนั้น สังเกตเห็นว่าวันนั้นวัดสงบเงียบเหมือนร้างไร้ผู้คน ผมกล่าวคำขอบคุณที่ให้ความรู้ทางธรรมแล้วกล่าวคำลา


                       สัปดาห์ต่อมา หลังการถวายภัตตาหารจึงถามถึง “ผ้าขาว” คนนั้น หลวงพ่อทำหน้างงๆ “ผ้าขาวไหนกัน วัดเราไม่เคยมีผ้าขาวมาอยู่ตั้งนานแล้ว หลังจากผ้าขาวอุบล ดำรงชัย เสียชีวิต” “อ้าว...”ผมเริ่มงงขึ้นมาบ้าง “แล้วผมคุยกันใครเล่าครับ กลางวันแสกๆ วันนั้น” หลวงพ่อวางท่าเฉยซ่อนรอยยิ้ม ท่านเล่า ประวัติของผ้าขาวอุบลให้ฟัง ทั้งประวัติและรูปร่างหน้าตา แน่ใจได้ว่าเป็นคนคนเดียวกัน แต่ผ้าขาวอุบลเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่กุฏิหลังเล็กใกล้ศาลาเมื่อปีที่ผ่านมา แล้วคุณคิดว่าวันนั้นผมคุยกับใคร คิดถึงเรื่องนี้ทีไรขนลุกซู่ทุกที แม้วันที่เขียนเรื่องนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น