วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มีวินัย มงคลข้อ9


9. มีวินัย

ลมหนาวพัดโชยแผ่วเบาโยกใบมะม่วงหน้าบ้านไม้สองชั้นหลังเก่าพลิ้วไหว ชายชราคะเนตามรูปร่างหน้าตาคงเกินหกสิบปีไปพอควรสองคนนั่งคุยกันบนเก้าอี้ไม้

มีวินัย

โสภณ เปียสนิท

...........................  

 

                          เช้าวันนั้นอากาศหนาวเย็นกว่าวันอื่นๆ เวลาพูดคุยสนทนาเหมือนมีควันออกปาก ลมหนาวพัดโชยแผ่วเบาโยกใบมะม่วงหน้าบ้านไม้สองชั้นหลังเก่าพลิ้วไหว ชายชราคะเนตามรูปร่างหน้าตาคงเกินหกสิบปีไปพอควรสองคนนั่งคุยกันบนเก้าอี้ไม้ ใต้ร่มมะม่วงต้นนั้น ด้วยท่าทีอันใคร่ครวญพิจารณา ในมือของชายทั้งคู่มีถ้วยน้ำชาร้อนส่งควันฉุย ช่วยขับไล่ความหนาวเย็น สองคนจิบพลางคุยพลาง


                          “ไม่น่าเชื่อนะว่าเผลอไปแผล็บเดียวหกสิบกว่าปี ฉันคงแก่แล้ว” ลุงพนผมขาวโพลนกล่าวขึ้นลอยๆ เหมือนไม่ต้องการคำตอบใดๆ “เราทั้งคู่มันก็แก่พอกันนั่นแหละ” ลุงพรกล่าวตอบ “แต่เมื่อสักครู่แกว่าอะไรนะ แผล็บเดียวหรือ หกสิบปีเนี้ยะนะ” “ก็ใช่นะสิ ดูเหมือนว่ายังไม่ได้ทำอะไรเท่าไรเลย ใกล้ความตายเข้าไปทุกที แล้วแกว่ามันนานนักหนาหรือไง” “เวลามันก็เท่าเดิมของมันนั่นแหละ “เร็วหรือช้า” ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคน เวลามีความสุขเวลามันก็เร็ว เวลาแห่งความทุกข์มันก็ช้า” “เออ...ก็น่าจะจริง ดังที่เขาว่า เวลาแห่งความสุขแสนสั้นเสมอ” ลุงสองคนเป็นเพื่อนกัน เกิดและเติบโต เรียนหนังสือมาด้วยกัน กระแสแห่งชีวิตพัดพาทั้งคู่แยกย้ายกันไป เมื่อวัยเลยเกษียณจึงกลับมาบ้านเกิด ใช้ชีวิตบั้นปลายร่วมกันอีกครั้ง


                        ลุงพนนึกถึงวันเวลาที่ผ่านเลยจึงกล่าวว่า “แกจำได้ไหมว่า ตอนแยกย้ายกันไปศึกษาเล่าเรียนเมื่อราวหกสิบปีก่อนเรานั่งคุยกันตรงนี้ ตอนนั้นฉันเพิ่งปลูกต้นมะม่วงได้ไม่กี่วันเอง” ลุงพรทำหน้างงๆ “นึกไม่ออกเลย แล้วไง” “ก็จะยังไง วันนี้เรานั่งรับแดดอ่อนใต้ต้นมะม่วงต้นเดิม ขณะเรากำลังจะตาย แต่มะม่วงมันกำลังโต” “ก็ดีนะที่เราได้กลับมาตายรัง หลังใช้ชีวิตร่อนเร่ไปตามกระแสโลก” “ใช่ ถือว่าโชคดี ที่มีโอกาสได้ตายอย่างสงบในถิ่นเกิด มองย้อนกลับไปเห็นความสำเร็จและความล้มเหลวของชีวิตได้อย่างชัดเจน” ลุงพนกล่าวอย่างคนเจนโลกผ่านโศกและสุขมาจนชาชิน ลุงพรพยักหน้า จิบน้ำชาอุ่นๆ จากถ้วยในมือช้า ทอดดวงตาเหม่อมองไปข้างหน้า แปลงนาว่างเปล่าหลังฤดูเก็บเกี่ยว ตอซังข้าวเหลืองสั้นเรียบเสมอกันทอดไกลจรดป่าชุมชนเขียวขจีโพ้น


                         “ชีวิตเหมือนแบ่งเป็นช่วงๆ สำเร็จล้มเหลวสลับกันไป ในที่สุดไม่ว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวก็มีค่าเท่ากัน” ลุงพรกล่าวเหมือนปลงตกหมดทุกสิ่ง ไม่มีความใยดีใดๆ เหลืออยู่ มองข้ามความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิต ลุงพนส่ายหน้าหน้าไม่เห็นด้วยกล่าวว่า “มีค่าเท่ากันอย่างไร?” “แกไม่เห็นหรือว่า แกเองเรียนหนังสือด้วยความขยันหมั่นเพียรอย่างหนักจนได้เป็นศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ในมหาวิทยาลัย แล้วยังไง ในที่สุดแกก็มานั่งคุยกับฉัน ผู้ซึ่งไม่ค่อยจะประสบความเร็จเท่าใด เป็นแค่ภารโรงในโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งเท่านั้น ใต้ต้นมะม่วงต้นเดิม และที่สำคัญเราต่างรอวันตายเหมือนกัน “อย่างนั้นก็จริง ในแง่ที่ว่าไม่ว่าสำเร็จหรือล้มเหลวต่างก็ต้องตาย  แต่มีความแตกต่างคือ ความสำเร็จคือเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ ควรค่าแก่การยกย่อง ความล้มเหลวย่อมได้รับการดูหมิ่นถิ่นแคลนมิใช่หรือ” ลุงพนให้ความสำคัญกับความสำเร็จ “แกว่าก็ถูกเช่นกัน” ลุงพรเห็นด้วย แล้วชวนคุยเรื่องที่ต่อเนื่องกัน


                        “อะไรคือองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จกันเล่า” ลุงพนไม่ตอบในทันที ดวงตามีแววครุ่นคิดอย่างหนัก แถมแกล้งให้คู่สนทนาตอบก่อนอย่างฉลาด “ฉันว่าแกเองก็ต้องรู้ เพราะชีวิตที่ผ่านมามันบอกเราทุกคนอย่างชัดเจน ไม่ว่าคนผู้นั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลว” ลุงพรถือโอกาสแสดงความคิดเห็นก่อนในประเด็นนี้ “การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญที่นำชีวิตไปสู่ความสำเร็จ”


                         ลุงพรมีสีหน้าเคร่งเครียดจริงจัง เมื่อรำลึกย้อนกลับไปถึงวัยเล่าเรียนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เพียงตัดสินใจผิดพลาดครั้งเดียว ชีวิตผลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ สมัยนั้นลุงพรวัยสิบแปด สิบเก้าปีกำลังศึกษาเล่าเรียนมัธยมปีที่5 ญาติพี่น้องและสัมพันธชนต่างมองเห็นอนาคตอันสดใสของพร เพราะเขาเป็นคนเรียนเก่ง สอบได้เป็นลำดับต้นๆ ของโรงเรียน เมื่อย้ายไปเรียนมัธยมปีที่5 ที่กรุงเทพฯ ทุกคนต่างคาดหวังว่าพรจะเรียนจนจบปริญญาตรี โท หรือเอกไปถึงโน่น เพื่อนต่างมองพรอย่างอิจฉา แน่นอน...พน ซึ่งเป็นเพื่อนรัก เรียนประถมมาด้วยกันย่อมต้องรู้และต้องการโอกาสเช่นนั้นบ้าง ซึ่งเขาก็รู้ว่าไม่ง่ายนัก แต่พรตัดสินใจผิดพลาด เขาพบรักสาวน้อยจากภาคเหนือจนมองเห็นความรักสำคัญกว่าสิ่งใด สำคัญกว่าการศึกษาที่เขากำลังมุ่งหน้าแสวงหา จนสุดท้ายเขาละทิ้งการศึกษา ตามหาความรักแทน วุฒิการศึกษาจึงมีแค่มัธยมปีที่3


                      “ชีวิตของฉันมันบอกว่า การศึกษาสำคัญ หากครั้งโน้นฉันเรียนจนจบปริญญา ฉันอาจเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างแกก็ได้” ลุงพรสรุปองค์ประกอบของความสำเร็จด้วยประสบการณ์ตรงของตน ลุงพนนิ่งเงียบมือสองข้างประกบกันคลึงถ้วยหาความอบอุ่นจากถ้วยชา แววตานิ่งงันจ้องมองที่กองไฟใกล้มอดใต้กองขี้เถ้าขาวโพลน อย่างใช้ความคิด“ใช่...การศึกษาสำคัญ แต่น่าจะมีองค์ประกอบอื่นระหว่างการก้าวไปสู่ความสำเร็จ แกว่ามันคืออะไร” ลุงพนแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ตั้งคำถามให้ลุงพรตอบเพื่อนำเข้าสู่ประเด็นสำคัญที่ตั้งใจไว้ ลุงพรตอบเรื่อยๆ “พระบอกว่า การทำสิ่งใดให้สำเร็จนั้นต้องรัก ต้องพยายาม ต้องจดจ่อ ต้องใคร่ครวญ ท่านเรียกว่าอิทธิบาทสี่”


                         ลุงพนถามต่อว่า “การรักการศึกษา พยายามศึกษา จดจ่อในการศึกษา นำเรื่องที่ศึกษามาใคร่ครวญเสมอๆ นั้นก็ถูก  แต่คนเรามีงานหลายอย่างให้ทำ การทำให้ทุกอย่างสำเร็จนั้นต้องทำอย่างไร” “ต้องจัดระเบียบ จัดลำดับก่อนหลัง” ลุงพรตอบทันที “ใช่แล้ว...ต้องมีระเบียบวินัย ขาดระเบียบวินัยทำสิ่งใดก็ไม่สำเร็จ เพราะชีวิตมีหลายอย่างให้ทำเสมอ” “จริงทีเดียว “วินัย” คำนี้ง่ายและสั้น แต่มีความสำคัญ” ลุงพนเห็นว่ามาตามทางที่ตนต้องการจึงชวนคุยต่อ “ความสำเร็จมาคู่กับวินัยเสมอ ใครมีวินัยดีเยี่ยมคนนั้นประสบความเร็จแน่นอน”


                     ลุงพรพยักหน้า แต่สีหน้ายังมีแววครุ่นคิด ลุงพนจึงขยายทัศนะให้ฟังว่า “วินัยเป็นเรื่องของนิสัยที่ต้องฝึกให้เคยชิน คนเรามักโน้มเอียงที่จะพาตนไปในด้านลบ เช่นนอนตื่นสายเป็นประจำ สูบบุหรี่ดื่มสุราเป็นประจำ เล่นการพนันเป็นประจำ เป็นต้น เรียกได้ว่า “ภาวะขาดวินัย” เป็นเด็กต้องฝึกวินัยสำหรับเด็ก เป็นผู้ใหญ่ต้องมีวินัยสำหรับผู้ใหญ่ แม้ยามแก่ต้องมีวินัยเช่นกัน ทางโลกต้องมีวินัย ทางธรรมต้องมีวินัย”


                          ลุงพรนั่งฟังอยู่นานจึงขัดจังหวะถามว่า “เป็นอย่างไรวินัยทางโลกวินัยทางธรรม” “ระเบียบวินัยด้านการเรียนการศึกษาทำมาหากินเป็นเรื่องทางโลก ระเบียบวินัยทางด้านคุณธรรมศีลธรรมเป็นเรื่องทางธรรม” ลุงพรนั่งฟังไปคิดไปไม่ทันได้พูด ลุงพนจึงกล่าวต่อไป “ตอนเด็กเมื่อศึกษาเล่าเรียนต้องมีวินัยในการเรียน เช่น แบ่งเวลาอ่านหนังสือให้ทันตามกำหนด แบ่งเวลาทำงานอื่นให้ครอบครัว


                         เมื่อทำงานต้องมีวินัยในการทำงาน เช่น การรักษาเวลา การแต่งกาย ความรับผิดชอบหน้าที่ฯลฯ เมื่อชีวิตมีระเบียบวินัยมาตั้งแต่เด็กจนเคยชิน เมื่อจะฝึกวินัยทางธรรมย่อมไม่ลำบาก เช่น การฝึกตนเองให้รักการทำทาน รักการรักษาศีล5 รักการฝึกจิตให้สงบนิ่ง” ลุงพรพยักหน้าเห็นด้วย “เอ...แกนี่สุขุมลุ่มลึกไม่เบานะ ยิ่งฟังแกพูดยิ่งเห็นว่าวินัยมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น” ลุงพนยกย่องบทบาทของวินัยยิ่งขึ้นไปอีกว่า “ดาบคมไร้ฝัก ระเบิดที่ไม่มีสลักนิรภัยย่อมมีโทษแก่เจ้าของ ฉันใด ความรู้ความสามารถที่ไม่มีวินัยกำกับย่อมมีโทษฉันนั้น”


                           วินัยจึงมีบทบาทปกป้องรักษาสังคมให้อยู่ได้อย่างมีความสุข และยังกล่าวถึงบทบาทของวินัยที่ทำให้สังคมเกิดความสวยสดงดงามต่อไปว่า “ดอกไม้หลายชนิด หลายสี หลายขนาด ที่เราเก็บมา เมื่อจัดระเบียบ (วินัย) ปักแจกันแล้วทำให้ดูสวยงามได้ คนเราก็เช่นกัน ต่างจิตต่างใจ ต่างชนชั้นวรรณะเมื่อมีระเบียบวินัยแล้วทำให้ดูงามขึ้นมาได้”


                          ลุงพรกล่าวชมอย่างจริงใจ “แยกแยะได้เห็นชัดเจนดีมาก แล้วมีอย่างอื่นอีกหรือไม่” ลุงพนแยกแยะวินัยยิ่งๆ ขึ้นไปอีกว่า “วินัยนั้นแบ่งตามสถานะทางสังคมด้วย ฆราวาสถือศีล (วินัย) 5 แม่ชีถือศีล 8 สามเณรถือศีล 10 พระถือศีล 227 ภิกษุณีถือศีล 311 เพื่อความสวยงาม เพื่อความสงบสุขแห่งสังคม คนต้องมีวินัย”


                         สายลมหนาวยามเช้ารวยริน ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในภาคตะวันตก พัดผ่านควันบางเบาครุกรุ่นจากกองไฟเบื้องหน้าของชายวัยไม้ใกล้ฝั่งสองคน กระจายหายไปในบรรยากาศ ถ้วยชาว่างเปล่าเนิ่นนาน อุ่นไอน้ำชาจางหาย บทสนทนาเรื่อยเฉื่อยเหมือนไร้จุดมุ่งหมาย ชายชราขยับผ้าขาวม้าพันร่างแนบแน่นเพิ่มความอุ่น ต่างทอดสายตาเหม่อมองไปข้างหน้า เหมือนกำลังรอบางสิ่งบางอย่าง จนกว่าวันนั้นจะมาถึง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น